อะไรคือลพบุลุย แล้วทำไมต้องไปลุยลพบุรี
“เวลาไปเที่ยวหลาย ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นบ้านเราหรือต่างประเทศเห็นเค้ามีงานศิลปะ เลยรู้สึกว่าลพบุรีมีความเป็นมาที่ยาวนาน มีศิลปวัตถุยุคประวัติศาสตร์อยู่ในเมืองหลายแห่ง คิดว่าน่าจะมีงานยุคปัจจุบันแนว Street Art ให้คนผ่านไปผ่านมาแวะชม ถ่ายรูป ได้คุยกับต่อ-ณัฐวุฒิ สุวรรณ ตั้งแต่ครึ่งปีที่แล้ว โครงการจึงค่อยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา”
เสรี แก้ววิเชียร หรืออาจารย์เส อาจารย์สอนวิชาศิลปะของเด็กๆ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี หัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่มลพบุลุย (LOPBURUI) เล่าถึงที่มาของโปรเจคให้ฟัง
โชคดีที่เจ้าของพื้นที่ซึ่งหมายตาไว้ตั้งแต่แรกคือ “มาลัยรามา” ข้างพระปรางค์สามยอด ใกล้ศาลพระกาฬ อนุญาตให้ใช้ผนังริมทางรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงภาพยนตร์เก่า เป็นพื้นที่ทำงานอย่างที่ตั้งใจไว้
“เราเล็งโรงหนังมาลัยรามาไว้ตั้งแต่แรก เพราะเมื่อก่อนเคยเป็นแหล่งนัดพบ เป็นศูนย์กลางของคนลพบุรี ที่สำคัญคือใกล้พระปรางค์สามยอด แลนมาร์คของเมือง โชคดีที่เจ้าของพื้นที่เป็นผู้ปกครองของลูกศิษย์ผม เข้าใจและยินดีสนับสนุนแนวความคิดของเรา เพราะงานแบบนี้มันคาบเกี่ยวระหว่างศิลปะกับความสกปรก”
เป็นความชาญฉลาดที่เลือกหมุดหมายซึ่งเคยรุ่งเรือง แต่ถูกทิ้งร้างจนสกปรกเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยขยะจากการที่คนนำอาหารมาให้ลิง มีเด็กมือบอนมาพ่นข้อความเรียกร้องความสนใจ ให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง ความคิดของคนสองคน ถูกขยายต่อในหมู่คนรู้จัก ผ่านการแนะนำ ทักทายกันมาในเฟชบุ๊ก จนเริ่มมีแนวร่วมเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ยุทธพงษ์ สืบภักดี ครูศิลปะโรงเรียนเทศบาล 4, ศราณุ ทองเกิด เจ้าของร้าน Cafe’in และอีกหลายคนซึ่งเป็นคนลพบุรีโดยกำเนิด เป็นอาจารย์ นักศึกษา เจ้าของกิจการ บางคนเกิดที่อื่นแต่อยู่เมืองนี้มาหลายปี บางคนเรียนอยู่ที่นี่ มีการศึกษาที่ดี ไม่ใช่โก๋กุ๊ยข้างถนน
สิ่งแรกคือปรับภูมิทัศน์ทำความสะอาด ซึ่งถือเป็นงานหนักเพราะติดกับจุดให้อาหารลิง แถมพี่จ๋อยังยึดครองแถวนี้เป็นถิ่นอาศัยมานาน พี่แกก็ทิ้งขยะไม่ถูกที่ ขับถ่ายอย่างอิสระ อาจารย์เสรีใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวบวกเงินที่ผู้ใหญ่บางท่านรวมถึงพี่ ๆ น้อง ๆ บางคนร่วมลงขันมาคนละร้อยสองร้อย เพียงพอต่อการซื้อสี แปรง พู่กันและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยใช้ “ลิง” เจ้าของถิ่นเป็นตัวละครเอก
แม้ทุนทรัพย์จะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ดำเนินไป แต่อุปสรรคใหญ่ระหว่างทางกับเป็นลิงที่คอยมาก่อกวนไม่ว่างเว้น ทั้งขโมยแปรงทาสี พู่กัน แม้แต่กระป๋องสียังหยิบไปเทเล่นบนหลังคา
“บางครั้งกำลังวาดรูปอย่างมีสมาธิ หันกลับไปอีกที กระป๋องสีกับแปรงไปอยู่โน่นแล้ว แต่จะทำยังไงได้ เพราะลิงก็คือลิง” ยุทธพงษ์ สืบภักดี หรือครูหมีอ้วน บอกให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
สิ่งที่อาจารย์เสกังวลอีกข้อคือ กลัวจะทำไม่ไหว เพราะพื้นที่เยอะ คนวาดน้อย หลังเริ่มลงพู่กันเติมฝันได้ไม่นาน ก็มีน้อง ๆ หลายคนเข้ามาขอร่วมสร้างงาน ผนังกำแพงแผ่นใหญ่ถึงตอนนี้เหมือนจะแคบไปลง จนต้องยอมสละพื้นที่บางส่วนของตัวเองให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ กลยุทธ์เชิญแขกแบบค่อย ๆ ทำ แต่ต้องจบภายในเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ ให้คนผ่านไปผ่านมาเห็นว่ากำลังทำอะไรอยู่ เป็นวิธีที่ได้ผลเพราะมีคนแวะเวียนมาหยุดมองทุกวัน ตั้งแต่เริ่มจนชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ ผู้คนบนรถไฟดูตื่นตาตื่นใจ ชี้มือชี้ไม้ด้วยความสนใจ สิ่งที่หวังและตั้งใจ ดำเนินไปอย่างช้า ๆ แต่อยู่ในสายตาคนมากมาย
แต่ละภาพผสมผสานระหว่างงานพ่นกับงานเพ้นท์ แฝงความหมายในเชิงสร้างสรรค์ บอกเล่าตัวตน ความคิด มุมมองของคนวาด เป็นลายเซ็นเฉพาะตัว … อย่างภาพของ เต้ย-ปรัชญา มาตรดี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เน้นลายเส้นบวกสีโทนหวาน นกพับเป็นตัวแทนของมิตรภาพ ปลาตะเพียนเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ เรือหมายถึงการเดินทางแลกเปลี่ยน ส่วนหมวกลิงที่ผู้หญิงสวม สื่อถึงตัวเค้าซึ่งเป็นคนสระบุรีแต่มาเรียนที่ลพบุรี ส่วนภาพลิงพ่นสีสเปรย์ที่ติดกันเป็นของป๊อด เจ้าของกิจการร้านอิงค์เจ็ท
ภาพลิงเซลฟี่ ถ่ายทอดอารมณ์สนุกสนานเปรียบเปรยความเหมือนระหว่างลิงกับคนของ อนุชิต ชัยเรียบ ร่วมกับ อาทิตย์ พงษ์ธานี (มิว) เจ้าของอู่ซ่อมรถ แต่วางประแจชั่วคราว มาแสดงชั้นเชิงศิลปะอย่างที่เคยร่ำเรียนมา ติดกันเป็นงานแนว sci-fi ของ วงศกร อยู่ฤกษ์ (เอ็ม) อาจารย์สอนศิลปะ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 33 ที่เน้นสีคู่ตรงข้าม มองว่าในวันข้างหน้าลพบุรีจะเป็นยังไง ลิงอาจจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้แบบมนุษย์ ออกไปท่องอวกาศ ส่วนคนหน้าสีเขียวใช้แทนตัวเค้าเอง
“โมนาลิงซ่า” งานล้อเลียนภาพวาดโมนาลิซ่า ของเลโอนาร์โด ดา วินชี ซึ่งเป็นศิลปินที่ อรรถบดี วิศิษฏ์วัฒนะ(ยิว) อาจารย์แผนกศิลปกรรม วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ชื่นชอบส่วนตัว เลยหยิบเอามาล้อเล่น มีเงาของพระปรางค์สามยอดและโบราณสถานในลพบุรีเป็นฉากหลัง
ต่อด้วยงานของอาจารย์เสรีในผนังถัดมา เป็นภาพลิงหลายตัวแต่ต่างสี มาลุยกินผลไม้ แถมยังหอบไว้เต็มมือตามประสาลิง เน้นความน่ารัก สีสันสดใส ถัดไปเป็นภาพ “สุสานลิง” ของ ณัฐวุฒิ สุวรรณ(ต่อ) นักออกแบบกราฟิก หนึ่งในผู้ริเริ่มงานลพบุลุย เอกลักษณ์ประจำตัวคือลายเส้นกับสีพาสเทล แฝงนัยยะเรื่องกระแสนิยมของแฟชั่น เมื่อเทรนด์ใหม่มาของเก่าก็ถูกโละทิ้งเป็นสัจธรรม นกฮูกในภาพเป็นตัวแทนของสุสาน ส่วนตัวหนังสือจิปาถะเป็นชื่อกลุ่มที่ต่อทำงาน และให้คำจำกัดความว่า “ทำไปทั่ว มั่วไปเรื่อย”
“ลิงโครงกระดูก” ของ นนทนันท์ จันทร (โจ๊ก) ซึ่งกำลังเรียนสาขาอิเล็กทรอนิกส์ พูดน้อยถ่ายทอดไม่เก่ง เคยบอมงานตัวเองทิ้งเพราะไม่ชอบใจไปต่อไม่ได้ เห็นคนอื่นวาดลิงมีเนื้อหนังกันหมด เลยปิ๊งไอเดียลิงโครงกระดูก ต้องการสื่อว่าไม่อยากให้ใครทำร้ายลิง
ภาพลิงแหวกม่านแดง เน้นสีแดง ดำ ขาว เป็นลายเซ็นของ ศิรินภา ตาเรือน (เบียร์) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 แผนกศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ในวัยย่างสิบเก้า แต่ฝีแปรงใหญ่เกินตัว เบียร์ใช้สายตาของลิงที่กำลังมองหาอะไรบางอย่างเป็นเครื่องสื่อความหมาย ภาพแอบเหงาที่เรตติ้งแรงทะลุเพดานเมฆ
“ไอ้โม่ง” งานที่ฉายตัวตนของ ศราณุ ทองเกิด ได้อย่างแจ่มชัด ด้วยไม่ชอบเปิดเผยตัวเป็นนิสัย ถนัดทำอะไรเงียบ ๆ อยู่ข้างหลัง แม้จะเป็นเจ้าของร้านกาแฟ+ร้านอาหาร แต่กลับชอบบทบาทพ่อครัวมากกว่า ยังมีผลิตภัณฑ์กระเป๋าหนังกระเป๋าผ้าของตัวเองในแบรนด์ l’mong จึงสร้างงานออกมาเป็นไอ้โม่งตัวใหญ่ กำลังมองไปทางเมืองลพบุรี เพื่อดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
“งานกำแพงต้องใหญ่ ถ้าไม่ใหญ่มันไม่เด่น” ศราณุ บอก
หมีตัวอ้วนพีสีดำของ ยุทธพงษ์ สืบภักดี หรือ ครูหมีอ้วน ครูศิลปะของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 4 ภาพที่ดูคล้ายดงเฟิร์นด้านข้างและด้านหลัง อาจมองเป็นหอยทาก เป็นปรัศนี สุดแท้แต่จินตนาการที่ต่างไปในแต่ละคน ส่วนภาพเป็ดอ้วนเป็นของ โกกุ่ย เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดที่มีอุปการะคุณต่อกลุ่ม ขอสำแดงฝีมือฝากไว้หน่อย สุดท้ายเป็นภาพลิงทหารแนวสนุกสนาน … คสล = คืนความสุขสู่ลิง
จุดเล็ก ๆ ของคนสองคน จนเกิดเป็นกลุ่มลพบุลุย ต่างอาชีพต่างที่มา แต่หัวใจรักงานศิลปะ รักเมืองลพบุรี ร่วมกันสร้างสรรค์ชิ้นงานในสไตล์ของตัวเอง จากผนังหม่นดำเกรอะกรังด้วยคราบสกปรก ถูกทำความสะอาด ร่างแบบ แต้มสี เติมจินตนาการด้วยเงินทุนส่วนตัว จนเกิดเป็นงาน Street Art เท่ ๆ แต่แฝงไปด้วยความหมาย ไม่ใช่ภาพสกปรกไร้สาระอย่างที่หลายคนคิด และอยู่ร่วมกับ “ลิง” เจ้าของถิ่นได้อย่างไม่เคอะเขิน
ต่อจากงาน Street Art ที่ตั้งใจ กลุ่มลพบุลุย กำลังทำงานจิตอาสา วาดภาพบนผนังกำแพงในสวนสัตว์ลพบุรี (เม.ย.59) โดยมีคนรักศิลปะอีกหลายกลุ่มเข้ามาร่วมด้วยช่วยเติมสีสัน อีกไม่นานคงจะเสร็จสมบูรณ์ คืนความสุขสดใสให้สวนสัตว์ลพบุรีอีกครั้ง
แวะเข้าไปติดตามทำความรู้จักพวกเค้าได้ที่ Facebook : Lopburui
ขอขอบคุณ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
อาจารย์เสรี แก้ววิเชียร และสมาชิกกลุ่มลพบุลุยทุกท่าน