ตัวเลขบนหน้าปัทม์บอกเวลา 05.45 นาฬิกา วิถีชีวิตบนท่าเรือเสียมไหม จุดเช็คอินส่งยิ้มให้พระอาทิตย์วันใหม่ เคลื่อนไหวตั้งแต่หัวรุ่ง ดาวระยิบค่อย ๆ เลือนหายจากท้องฟ้า โมงยามเคลื่อนเข้าสู่เวลาเช้า ทิวเขาด้านหน้าต้องแสงในต่างองศา ซ้อนกันเป็นเฉดชั้น ไม่เสียดายที่ตัดใจลุกจากเตียง เพื่อมาดูความสวยงามยามเช้าเช่นนี้
“เค้าเรียกว่า ทวดโต๊ะเกาะหมู ครับพี่”
“เกาะ” อิทธิพล กุศลรักษ์ … บอกเราเมื่อถูกถามถึงศาลที่มีลักษณะคล้ายคติความเชื่อแบบไทย ตรงเชิงสะพานท่าเรือ เราต่างสงสัยเพราะคนบนเกาะ 99.99% เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม ไม่กราบไหว้หรือตั้งรูปเคารพตามหลักศาสนา
เป็นความเชื่อที่มีมานานไม่มีหลักฐานบันทึก ก่อนออกทะเลหรือทำกิจกรรมอันใดมักบอกกล่าว เคยมีคนปฏิเสธความเชื่อ เลยเถิดไปถึงปฏิบัติเข้าข่ายลบหลู่ มักเกิดเหตุไม่ดีกับตัวเอง จนต้องขอขมาลาโทษ เป็นเหตุให้คนบนเกาะเคารพนับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
“โต๊ะ… เปรียบเหมือนผู้ใหญ่ที่คนเคารพนับถือ คนที่นี่เค้าเรียกเกาะสุกรว่าเกาะหมู กันมานานแล้ว ถ้าพี่ไปถามว่ารู้จักเกาะสุกรมั๊ย คนจะนึกอยู่พักแหละ แต่ถ้าบอกว่าเกาะหมู ก็รู้เลย”
เกาะ … ก็เหมือนกับลูกผู้ชายทั่ว ๆ ไป ที่ออกไปเผชิญชีวิตด้วยตัวเอง จนวันหนึ่งมีลูกน้อย จึงกลับมาปักหลักที่บ้านเกิดกับครอบครัว ยึดอาชีพขับซาเล้งหรือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างมีหลังคา รับส่งคนบนเกาะและนักท่องเที่ยว
“ซาเล้งบนเกาะมีประมาณ 28 คัน มีเสื้อวิน ต้องเข้าคิวเหมือนมอเตอร์ไซค์รับจ้างเลยพี่”
วินซาเล้งจอดประจำการทุกวันบนท่าเรือเสียมไหม บางครั้งเจอสายด่วนจากทางรีสอร์ท เพราะมีลูกค้าเหมา ก็แต่งตัวลำลองเพื่อความคล่องตัว อัตราค่าบริการมีป้ายบอกชัดเจน เสียมไหมเป็นท่าเทียบเรือเมล์ที่แล่นระหว่างเกาะสุกร อ.ปะเหลียน กับท่าเรือตะเสะ อ.หาดสำราญ ซึ่งห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร ระยะทางที่ไม่ไกล มีแนวเขาชะลอลม ทำให้ข้ามไปมาได้ทั้งปี แม้ในช่วงฤดูมรสุม
อิ่มแสงเช้าแล้วเราย้อนกลับไปทางชุมชนหมู่ 4 บ้านหาดทรายทอง ย่านนี้เปรียบเหมือนเมืองหลวงของเกาะหมู มีมัสยิด โรงเรียนที่ให้การศึกษาขึ้นพื้นฐานถึงระดับ ม.3 สถานพยาบาลชุมชน ร้านรวงส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แถบนี้ … เลยถือโอกาสแวะชิม “หมี่น้ำแกง” เค้าใช้เส้นหมี่แทนเส้นขนมจีน ทั้งหมี่ขาวเพียว ๆ และแบบจับไปผัดเครื่อง รสออกทางหวานเรียก “หมี่แดง” ราดแกงเนื้อ แกงไก่ ได้ตามสั่ง หากจะชิมแบบทูอินวันให้ออเดอร์ว่า “หมี่ปน” แกล้มมะม่วงหิมพานต์ …เนื้อนิ่ม หวานพอประมาณ มะม่วงเบา… เปรี้ยวจี๊ดจ๊าด กับยอดผักพื้นบ้านอีกหลายอย่าง ร้านข้าง ๆ ขายข้าวหมกไก่ กะละมังใหญ่ ๆ ไม่นานก็หมด
สภากาแฟอยู่ถัดไปไม่ไกล มีข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวหน้ามะพร้าว ปาท่องโก๋ ให้หม่ำคู่คาเฟอีน คนแถวนี้ดูสนิทกับรสหวาน ใครสั่งกาแฟดำแนะนำว่าอย่าให้เค้าใส่น้ำตาล เพราะอาจได้โอเลี้ยงร้อน ๆ หวาน ๆ มาซดแทน ร้านส่วนใหญ่จะขายตั้งแต่เช้ามืด (มาก) เพราะลูกค้าหลักคือชาวบ้านที่ออกไปกรีดยาง กู้ลอบปู ตาข่ายดักปลา ซึ่งออกกันมาเวลานั้น ไม่เกินแปดโมงเช้าก็ปิดการขาย
หาดทรายบนเกาะ ไม่ได้ขาวนวลชวนฝันเหมือนหลาย ๆ แห่ง แต่เรื่องละเอียดเนียนนุ่มไม่เป็นรองใคร แนวหาดขาวผ่องมีแห่งเดียว อยู่บริเวณ “หาดทรายทอง” ติดท่าเรือเสียมไหม เป็นที่อยู่อาศัยและจอดเรือของชาวบ้าน วิธีเดียวที่จะเที่ยวทั่วเกาะคือ นั่งซาเล้งแบบเช่าเหมาวัน หนึ่งคันรับไม่เกิน 5 ที่นั่ง ไปแบบสโลว์ไลฟ์ในคอนเซปต์ “ เขา สวน ป่า นา เล”
“เคยมีนักท่องเที่ยวขอนั่งเกิน 5 คน เพราะเค้าไม่อยากเสียเงินเพิ่ม บางครั้งเราก็ยอมนะถ้าตัวไม่ใหญ่ บรรทุกหนักมากรถก็รับไม่ไหว”
เสียงตัดพ้อถึงนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ที่ไม่เคารพกฎกติกา ขอบรรทุกเกินอัตราแถมข้าวของอีนุงตุงนัง แต่กลุ่มซาเล้งก็อะลุ้มอล่วยให้ในบางครั้ง เพื่อรักษาสัมพันธภาพและความรู้สึกที่ดีกับนักท่องเที่ยว แม้จะทำให้พาหนะทำกินทรุดโทรมก่อนเวลาอันควร หากใครมีโอกาสไปเยือน ควรคิดถึงใจเราใจเขา อย่าเอาสะดวกแต่ฝ่ายเดียวกันเลยนะ
เส้นทางสัญจรเป็นเนินเขาสลับที่ราบ หากแบกน้ำหนักมาก บางครั้งผู้โดยสารอาจต้องลงเดินหากเจอเนินชัน ก่อนขึ้นจุดชมวิว จะผ่านบ่อน้ำจืด เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่มีตาน้ำจืดผุดขึ้นริมทะเล บางคนเลยถือโอกาสชิมไปอึกใหญ่ ๆ
จุดชุมวิวของเกาะหมูอยู่บนเนินสูง มีศาลากันแดดกันฝนไว้ให้ชมวิวสวย ช่วงน้ำลดสามารถมองเห็นแนวสันทรายผสมเปลือกหอย ที่เรียกกันว่า “สันหลังมังกร” ได้อย่างชัดเจน ย่านน้ำนี้มีอยู่ 2 แห่งคือ สันหลังมังกรหยก และ สันหลังมังกรทับทิมสยาม ถ้าอยากไปเห็นแบบถึงเนื้อถึงตัว เค้ามีเรือแบบเช่าเหมาลำไว้บริการ
สถานีถัดไปซาเล้งมุ่งหน้าพาลัดเลาะไปตามสวนยางพารา ถนนคอนกรีตเล็ก ๆ มียางพาราต้นใหญ่ช่วยบังแดดได้เป็นอย่างดี
“ถ้ามีโอกาสมาช่วงเช้า แสงจะสวยมาก” เกาะบอกกับเรา
คนขับซาเล้งเป็นคนพื้นที่ของแท้ จึงจดจำวิถีธรรมชาติได้อย่างแม่นยำ … จากสวนยางถนนพาลัดเลาะเข้าหมู่บ้าน เชื่อมต่อถนนเลียบชายฝั่ง มีบ้านทำผ้าบาติก กิจการเล็ก ๆ สำหรับขายนักท่องเที่ยว เข้าช่วงโลว์ซีซั่น ก็กลับไปสวมบทชาวสวนชาวนาตามปกติ
แนวชายฝั่งมีชุมชนประมงและท่าเทียบเรือ จุดรวมพลกุ้ง ปลา สัตว์ทะเลที่นำขึ้นมาส่งขาย ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลย่านนี้ยังจัดว่าดีเยี่ยม บางคราวชาวเรือกลับฝั่งพร้อมสินในน้ำหลายร้อยกิโล บางลำลงอวนอยู่ริมเกาะ ก็ยังได้มาไม่น้อย เลยขอจอดแวะทักทายถ่ายภาพกันพักใหญ่
อีกเรื่องที่เราแปลกใจคือ เราไม่เห็นเรือจอดทอดสมอหลังขึ้นฝั่งเลยสักลำ นอกจากตรงหาดทรายทองหมู่ 4 คำตอบถูกเฉลยเมื่อซาเล้งพาเข้าซอกเล็กซอยน้อย ผ่านย่านบ้านเก่า ข้ามคลองย่อยหลายสาย จนมาสุดทางที่อ่าวเล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่ในป่าชายเลน เรือหัวโทงหลายลำสงบนิ่งเหมือนถูกสต๊าฟ เป็นชัยภูมิหลบลมคลื่นที่เหมาะเจาะ ป่าชายเลนบนเกาะหมูยังไม่มีผู้รุกราน ที่จอดเรือลักษณะนี้จึงมีอยู่หลายจุด
นอกจากทำสวน ประมงเรือเล็กแล้ว เค้ายังทำนาปลูกข้าวปีละครั้ง แต่เรามาช่วงฤดูร้อนก่อนฝน (พ.ค.59) จึงเห็นเพียงตอซังข้าวกรอบแดด ตั้งใจว่าหากมีโอกาสจะกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้งให้ได้
“จะมาช่วงต้นข้าวเขียว ๆ หรือรวงข้าวสุกสีทอง ตอนไหนก็สวย โทรหาผมได้เลย 09 9410 4044 ยินดีให้บริการครับ” เกาะเชื้อเชิญมาเที่ยวอีกรอบ
นากับควายมักอยู่คู่กัน บนเกาะหมูมีอยู่หลายฝูง ช่วงเย็น ๆ จะพากันลงทะเล เก๋ไก๋ออนเดอะบีช … ฝูงอยู่ไกลน้ำเค็ม ก็นอนแช่ตามแหล่งน้ำจืด ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง … จริงอย่างคำกล่าวที่ว่า ชื่อเกาะหมูแต่ไม่มีหมู มีแต่ควาย วัว แล้วก็แพะ … ชื่อเกาะมีที่มาหลายตำนาน ผสานคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งมีทิศทางต่างกัน แต่คนพื้นที่เรียกกันเป็นปกติว่า “เกาะหมู” ผู้มาเยือนสามารถเรียกได้เช่นเดียวกัน หลายบ้านเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้เข้าพัก สัมผัสวิถีชุมชน เท่าที่ได้พบได้คุย เราว่าคนที่นี่เป็นมิตร มีน้ำใจ เลิฟเลยหละ
เกาะหมูยังมีชื่อเรื่อง “แตงโม” เรามีโอกาสเห็นแตงโมผลสุดท้ายของฤดู ที่สุกรคาบาน่าเพราะเค้าปลูกไว้ ส่วนผลก่อนสุดท้ายถูกเสิร์ฟมาให้เราชิม หวานฉ่ำสมคำร่ำลือ แต่ที่ติดใจกลับเป็นมันกุ้งหวาน ของฝากจากครัวเรือน กระปุกละ 20 บาท เป็นมันกุ้งที่ได้จากการเคี่ยวหัวกุ้ง ผสมวัตถุดิบอีกหลายอย่าง รสชาติคล้ายกะปิหวาน จับคู่กับมะม่วงเปรี้ยวเท่านั้นถึงจะเข้ากัน
เราพักที่ “ญาตา รีสอร์ท เกาะสุกร” เลยถือโอกาสไปนั่งส่งพระอาทิตย์กลับบ้านที่หน้าหาด ที่นี่เค้ามีห้องพักหลายแบบ พร้อมระเบียงนั่งรับลม นอนฟังเสียงคลื่น ถ้าไม่อยากลงทะเล ก็มีสระให้ลงไปว่ายป๋อมแป๋ม … หน้าหาดหันไปทางตะวันตก เห็นเกาะเหลาเหลียงพี่ เหลาเหลียงน้อง ส่งยิ้มอยู่ไกล ๆ ใครอยากออกทัวร์ดำน้ำ นั่งซาเล้งรอบเกาะ ติดต่อที่รีสอร์ทได้เลย
นอกจากเกาะสุกร ตรังยังมีที่ท่องเที่ยวสวย ๆ โรงแรมรีสอร์ตให้เลือกมากมาย โดยสามารถค้นหาและจองที่พักออนไลน์ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ จองผ่าน Traveloka เคล็ดลับในการจองให้ได้ราคาถูกลงคือ จองผ่านแอปพลิเคชั่น Traveloka พร้อมราคาโปรโมชั่นโดนใจเว่อร์ ๆ ที่อัพเดทมาให้เลือกทุกสัปดาห์
การเดินทางก็แสนสะดวก ด้วยการจองตั๋วเครื่องบินผ่าน Traveloka ในราคาพิเศษ เดินทางแน่นอนในวัน-เวลาที่จอง ทั้งยังสามารถติดต่อฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
จองสบาย … ไม่มีบัตรเครดิตก็สามารถจองออนไลน์ได้ จ่ายสะดวก … ด้วยวิธีโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม, เคาน์เตอร์ธนาคาร, อินเทอร์เน็ตแบ๊งก์กิ้ง, 7- Eleven และเคาน์เตอร์เพย์เมนต์หลายแห่ง
วันนี้เมฆคงหิว เลยกลืนพระอาทิตย์ลงท้องไปก่อนเวลา เหลือแค่แสงรำไรอยู่ปลายฟ้า … แต่ได้เมนู ปู ปลา ของทะเลสดใหม่ กับมะม่วงเบายำกะทิ อาหารประจำถิ่นรสชาติคล้ายหลนทางภาคกลาง แต่เข้มข้นจัดจ้านน้อยกว่า มาช่วยปลอบใจในมื้อค่ำ
… อิ่มพุง หลับพริ้ม ไม่ได้ยินเสียงฝน เสียงคลื่น เลยสักนิดเดียว …
การเดินทาง
เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือ ลงเรือที่ท่าเรือตะเสะ อ.หาดสำราญ ใกล้ท่าเรือมีที่รับฝากรถหลายแห่ง พร้อมบริการรับส่ง หรือนั่งรถตู้โดยสารสาย ตรัง – ย่านตาขาว ลงที่ตลาดแล้วต่อรถสองแถวสายย่านตาขาว – ตะเสะ
ค่าเรือคนละ 30 บาท จอดรอผู้โดยสาร 5-8 คน หัวเรือถึงจะหันออกจากท่า ถ้าเหมาลำคิดราคา 240 บาท ถึงท่าเรือเสียมไหม ส่วนใหญ่รีสอร์ทจะติดต่อรถไว้ให้ หรือใช้บริการซาเล้งโดยตรงที่ท่าเรือ มีราคามาตรฐานแจ้งไว้ชัดเจน
นั่งซาเล้งทัวร์เกาะ
คิดแบบเหมาวันคันละ 400 บาท ผู้โดยสารไม่เกิน 5 คน (ข้อมูลราคาค่าเรือ ค่ารถ : พฤษภาคม 2559)
ที่พัก
มีรีสอร์ทหลายแห่ง หรือสนใจนอนโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีชาวบ้าน
ติดต่อได้ที่ อบต.เกาะสุกร โทร.0 7520 7700
ขอขอบคุณ
กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง