สนธิ ลิ่มสายหั้ว ผู้อาวุโสซึ่งคลุกคลีกับประเพณีไหว้ผีโบ๋มาแต่วัยเยาว์ เล่าให้ฟังถึงคติความเชื่อของคนเชื้อสายจีนใน ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน
ย้อนกลับไปราว 150 ปี อำเภอเล็ก ๆ สงบน่าอยู่ชื่อ “ทุ่งหว้า” เคยเป็นเมืองท่าค้าขายที่ยิ่งใหญ่ในนาม “สุไหงอุเป” มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งปลูกพริกไทยกันเป็นจำนวนมาก พริกไทยเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้มหาศาล สำเภาลำใหญ่เข้าเทียบท่า ขนส่งสินค้าไปขายยังเมืองปีนังไม่เว้นแต่ละวัน … สุไหงอุเปเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดจนถูกขนานนามว่า “ปีนังน้อย” ก่อนจะมาซบเซาเงียบเหงาเมื่อยางพาราเข้ามาแทนที่ ชาวจีนบางส่วนอพยพย้ายถิ่นออกไปทำมาหากินในดินแดนใหม่ ส่วนหนึ่งตัดสินใจลงหลักปักฐานอย่างถาวร
“การอพยพมาทางเรือ อาจประสบอุบัติเหตุเรือล่มบ้าง เจ็บป่วยระหว่างทางบ้าง บางครั้งอาจเสียชีวิตยกลำ บางคนก็มาล้มตายระหว่างประกอบอาชีพอยู่ในทุ่งหว้า คนจีนซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี จึงนึกสงสารพวกเขาที่ต้องมาเสียชีวิตโดยไม่มีญาติคอยเซ่นไหว้ จึงคิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา จนเกิดเป็นประเพณีการไหว้ผีโบ๋ … โบ๋แปลว่า หมู่หรือพวก คือไหว้ทั้งฮอเฮียตี๋และผีที่ไม่มีญาติทั้งหลายแหล่ หลังจากไหว้สารทจีนที่บ้านในวัน 15 ค่ำ เดือน 7 ไปแล้ว 10วัน คือวัน 25 ค่ำ”
ทุ่งหว้าเคยเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ ถึงขั้นมีสมาคมตระกูลแซ่เกิดขึ้น โดยมีหลักฐานจากป้ายหินหน้าหลุมศพพบที่ขุดพบ การจะก่อตั้งสมาคมตระกูลแซ่ได้นั้น ต้องมีจำนวนชาวจีนอยู่มากโข … แม้จะอยู่ต่างบ้านต่างเมือง แต่ชาวจีนโพ้นทะเลไม่เคยละเลยธรรมเนียมปฏิบัติ เรื่องแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษผุ้ล่วงลับ ทั้งเชงเม้ง ตรุษ สารท …. แต่ในช่วงสารทจีน จะมีพิธีไหว้ผีโบ๋เพิ่มเติมขึ้นมา ผู้อาวุโสหลายท่านเล่าว่า แต่ละตระกูลแซ่จะจัดพิธีเลี้ยงผีโบ๋กันอย่างคึกคัก เต็มสองฝั่งถนน ต่อมาภายหลังจึงมารวมไหว้ด้วยกันในที่เดียว
ผู้รับผิดชอบงานในแต่ละปีคือ “นายหัว” หรือ “หัวหน้า” เรียกสั้น ๆ ว่า “หัว” ของแต่ละชุมชนในเขตตำบลทุ่งหว้า โดยคัดเลือกจากการเสี่ยงทายด้วยการโยนไม้ “ปั๊วโป๊ย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างสองภพ ปั๊วโป๊ยต้องตกลงมาลักษณะ “เซ่งโป๊ย” คว่ำหนึ่งอัน หงายหนึ่งอัน มีความหมายว่า “รับ” …. หากเป็นอย่างอื่นคือ คว่ำทั้งสองอัน “อิ้มโป๊ย” ซึ่งมีความหมายว่า ไม่รับ/หัวเราะ หรือ หงายทั้งสองอัน “เฉี้ยวโป๊ย” ยิ้ม/ไม่ปฏิเสธแต่ไม่รับ … ถือว่าหมดสิทธิ์
“ ต้องเซ่งโป๊ยหรือรับสามครั้งติดต่อกัน ถึงจะเรียกว่าถูกเลือกเป็นหัวด้วยมติเป็นเอกฉันท์ หัวมีหน้าที่โต่ยหรือเรี่ยไรเข้ากองทุนสำหรับจัดงาน รวมถึงจัดแจงความเรียบร้อยต่าง ๆ ตั้งแต่การซื้อของที่ต้องใช้ในพิธีกรรม อาหารสำหรับเซ่นไหว้ ว่าจ้างพ่อครัวสำหรับงานเลี้ยงในตอนเย็น ฯลฯ ”
ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ซึ่งเคยรับเลือกเป็นหัวมาแล้วถึงสองครั้งบอกกับเรา
ในวัน 1 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งเชื่อว่าเป็นวันแรกที่ “เซงฮือไต่ตี๋” เทพเจ้าแห่งดิน จะเปิดประตูยมโลก … ชาวจีนในทุ่งหว้าจะจุดธูป เผากระดาษเงิน กระดาษทอง บอกกล่าวต่อฮอเฮียตี๋และวิญญาณเร่ร่อนทั้งหลาย ให้เอาเงินทองไปจับจ่าย ท่องเที่ยวให้สนุกสนาน อย่าได้มาทำร้ายลูกหลานหรือใคร ๆ
ช่วงเช้าของสารทจีนวัน 15 ค่ำ จะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษภายในบ้าน หลังเที่ยงไปแล้วจะไหว้ฮอเฮียตี๋บริเวณหลังบ้านหรือหน้าบ้าน โดยปูเสื่อหรือกระดาษที่พื้น เพื่อวางของเซ่นไหว้ ต่างจากการไหว้บรรพบุรุษอย่างชัดเจน … หลังไหว้สารทจีน 10 วัน คือวัน 25 ค่ำ จึงจะมีพิธีไหว้ผีโบ๋หรือผีหมู่ขึ้น
“การไหว้ผีโบ๋ได้หยุดไประหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2491 โดยนายเต็กกุ่ย แซ่ลิ้ม กำนันตำบลทุ่งหว้าในขณะนั้น และสืบทอดมาถึงทุกวันนี้” คุณลุงสนธิบอก
ปัจจุบันประเพณีการไหว้ผีโบ๋ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญประจำปีของชุมชน … ในคืนวัน 24 ค่ำ จะมีพิธีบอกกล่าวและเปิดงานอย่างเป็นทางการ พร้อมมหรสพเฉลิมฉลอง พอหอมปากหอมคอ … ช่วงสาย ๆ ของวันถัดมา (วัน 25 ค่ำ) จะตั้งขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้ เป็นขบวนเล็ก ๆ โดยเด็ก ๆ ในท้องถิ่น ปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับรับรู้ไปในตัว ระหว่างทางจะมีชาวบ้านร้านรวง ช่วยบริจาคเงินร่วมสมทบทุนเป็นระยะ จนถึงสถานที่ประกอบพิธีกรรม บริเวณหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลทุ่งหว้า
“อาหารที่นำไปเซ่นไหว้ มี 2 ประเภทคือ ไหว้เล็ก ๆ ที่บ้าน(ซาแซ้) ประกอบด้วย หมู ไก่ ปลา ผลไม้ต่าง ๆ ถ้าเป็นพิธีใหญ่เรียกว่า … โหงวแซ้ … ห้ามน้อยกว่าห้าอย่างแต่มากกว่าได้ เน้นอาหารที่เป็นมงคลตามความเชื่ออย่างปลาหมึก … แทนน้ำหมึกสีดำที่ใช้เขียนเป็นตัวหนังสือ สื่อถึงความเป็นผู้รอบรู้ หมี่เตียว … เส้นหมี่ยาว ๆ ไม่นิยมตัดเวลานำไปผัด เช่นเดียวกับเวลากิน เพื่อสืบเชื้อสายได้ยืดยาว สัปปะรด … เหมือนมีตารอบทิศ ส่วนขนมนิยมของฟู ๆ แต้มด้วยสีแดงอย่าง ซาลาเปา ถ้วยฟู ฯลฯ ชีวิตจะได้เฟื่องฟู … ของแห้งมีข้าวสาร อาหารกระป๋อง เค้าจะได้นำกลับไปเป็นเสบียง มะม่วงหรือของสีดำเป็นสิ่งต้องห้าม ที่ขาดไม่ได้คือ สุราและน้ำชา”
การไหว้ผีโบ๋จะเริ่มในเวลาหลังเที่ยงไปแล้ว โดยจะปักธงสีไว้บนของเซ่นไหว้ หัวของเขตต่าง ๆ จะเป็นคนบอกกล่าว โดยยืนไหว้ไม่คุกเข่าเหมือนการไหว้บรรพบุรุษ ต่อจากนั้นจึงจะถึงคิวผู้ที่มาร่วมงาน โดยรับธูปจากผู้ทำหน้าที่พิธีกร เมื่อปักธูปจนครบเรียบร้อย จะทิ้งช่วงเวลาไว้สักระยะ … ก่อนพิธีกรจะถามฮอเฮียตี๋ว่า “มาหรือยัง” พร้อมโยนไม้ปั๊วโป๊ยขึ้นเหนือศรีษะ หากตกลงมาคว่ำหนึ่งอัน หงายหนึ่งอัน พิธีกรจะตะโกนว่า “เซ่งโป๊ย” หมายถึง มาแล้วโดยปีนี้ฮอเฮียตี๋มาเร็วมาก จากการปั๊วโป๊ยเพียงครั้งเดียว
“หลังจากเซ่งโป๊ย คนมาร่วมพิธีจะรุมแย่งธงที่ปักบนของเซ่นไหว้ เพื่อนำไปเก็บไว้ที่บ้าน เพราะถือว่าเป็นของมงคล”
จากนั้นจะเป็นการเสี่ยงทายเพื่อเลือกหัวของปีถัดไป โดยใช้บัญชีรายชื่อผู้บริจาค ที่หัวได้ไปโต่ยหรือเรี่ยไรมา ไล่เรียงไปทีละชุมชน บางคราวต้องใช้เวลานานนับชั่วโมง ท่ามกลางเสียงลุ้นเสียงเชียร์กันอย่างสนุกสนาน
“บางชุมชนที่คนอยู่เยอะ อาจต้องเลือกหัวสองคนเพื่อคอยช่วยเหลือกัน แม้จะเป็นภาระค่อนข้างหนัก แต่คนที่ถูกเลือกจะรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่นี้ บางคน … ทั้งชีวิตยังไม่มีโอกาสถูกเลือกเป็นหัวเลยก็มี” คุณณรงค์ฤทธิ์ บอกให้ฟังด้วยรอยยิ้ม
อาหารเซ่นไหว้ จะถูกนำไปปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ สำหรับเลี้ยงผู้คนในช่วงเย็น ระหว่างงาน … หัวของปีนี้จะแบ่งของไหว้อย่างละเล็กละน้อย มอบให้หัวของปีถัดไป คล้ายการส่งไม้ต่อและประกาศให้คนรับรู้ในคราวเดียว … แต่หน้าที่ของ “หัว” ยังไม่สิ้นสุดจนกว่าจะถึงวัน 30 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งถือเป็นวัน “กวยมึ้ง” หรือ “วันปิดประตูยมโลก” … คณะหัวต้องมาจุดธูปเทียน เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดประทัดส่งฮอเฮียตี๋ … พร้อมบอกกล่าว ปีหน้าเดือน 7ค่อยพบกันใหม่
เช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายจีนในเขตตำบลทุ่งหว้า ที่ต้องมาพบปะร่วมงานไหว้ผีโบ๋เป็นประจำทุกปี ประเพณีซึ่งแฝงกุศโลบายของบรรพบุรุษ เพื่อยึดโยงผู้คนในชุมชน ให้อยู่รวมกันอย่างกลมเกลียวเหนียวแน่น สืบต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน