ท้องฟ้าสดใส ใบไม้เปลี่ยนสี ลมหนาวกับเรื่องราวของผู้คนบนพื้นที่สูง บอกให้รู้ว่า “พ่อหลวง” รักและห่วงใยพวกเราแค่ไหน อาจหนาวแค่เพียงกาย แต่หัวใจเราอบอุ่นยิ่งนัก
ตอซังข้าว สงบนิ่งในผืนนาหลังฤดูเก็บเกี่ยว ฝูงแกะทอดน่องเล็มหญ้าอย่างมีความสุข หากอยู่ในการศึกสงคราม ชัยภูมิของบ้านหลังนี้ถือว่าได้เปรียบคู่ต่อสู้ อยู่บนเนินสูงมองเห็นที่ราบด้านล่างจดทิวเขาไกลลิบอย่างแจ่มชัด จนรู้สึกอิจฉาเจ้าของบ้านอย่าง มะลิวัลย์ นักรบไพร ระหว่างนั่งจิบกาแฟชมวิวไปเพลิน ๆ
นาทีนี้น้อยคนนักจะไม่รู้จักเมล็ดกาแฟอาราบิก้าบ้านห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ต้นพันธุ์กาแฟที่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำมาให้ปลูก บัดนี้หยั่งรากอย่างมั่นคงแข็งแรง เป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ลูก ๆ จนชีวิตมีสุขในทุกวันนี้
“กาแฟอาราบิก้าที่ดี ต้องประกอบด้วยสามเงื่อนไขคือ หนึ่ง … ปลูกภายใต้ร่มเงา สอง … ความสูงหนึ่งพันเมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป สาม … อากาศเย็นเฉลี่ยทั้งปี บ้านห้วยห้อมสูงแค่เก้าร้อยกว่า ๆ แต่ได้ปัจจัยเสริมอย่างอื่นคือ อยู่ใกล้ร่องห้วย อากาศเย็น มีป่ามีร่มเงา กาแฟเลยมีคุณภาพ”
มนูญ รักษาชล จากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ซึ่งคลุกคลีอยู่กับงานส่งเสริมการปลูกกาแฟที่บ้านห้วยห้อมมานาน เล่าต่ออีกว่า ประเพณีของชาวปกาเกอะญอ จะนำสายสะดือเด็กเกิดใหม่ ไปผูกไว้กับต้นไม้ แล้วคนนั้นต้องคอยดูแลรักษา เพราะมันหมายถึงอายุขัยของเค้า ตรงไหนมีปกาเกอะญอที่นั่นป่ามักจะสมบูรณ์
บ้านห้วยห้อมอยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของศูนย์ ฯ แม่ลาน้อย ระยะทางห่างจากที่ทำการศูนย์ ฯ ที่บ้านดงประมาณ 9 กิโลเมตร หนุ่มปักษ์ใต้เมืองนครศรีธรรมราชอย่างมนูญ เข้ามาเริ่มงานตั้งแต่ถนนยังไม่มีในแผนที่และชีวิตจริง ต้องเดินเท้าไปกลับร่วมสามชั่วโมง เจ้าหน้าที่ใจต้องสู้และรักงานนี้ จึงจะอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมยากลำบาก อันเป็นเป้าหมายแท้จริงของมูลนิธิโครงการหลวง
“โครงการหลวงแต่ละแห่ง เส้นทางจะยากเสมอ เมื่อทางยากหน่วยงานรัฐเข้าไปไม่ถึง ชาวบ้านจึงทำอะไรก็ได้ อย่างที่นี่มีเส้นทางขนฝิ่นไปออกพม่าได้เลย”
แม้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาวุธคู่กายมีเพียง รองเท้าบูท มีด จอบ เสียม เสื้อกันฝนและความรู้เพื่อถ่ายทอดให้ชาวบ้าน มนูญเล่าว่าก่อนมีถนน (ลูกรัง) ชาวบ้านเดินตามลำห้วยเข้าตัวอำเภอ หากเอาข้าวเปลือกไปขายสองถัง ต้องเพิ่มเข้าไปสองลิตรเป็นเสบียงหุงกินระหว่างทาง ขายข้าวถังละ 35 บาท เปลี่ยนเงินเป็นเกลือและปลาทูเค็มกลับมาบ้าน อาหารอร่อยที่สุดคือ ปลากระป๋อง
“ชาวบ้านเรียกพวกเราว่าเกษตร สมัยก่อนจะเข้าไปประชุมในตัวอำเภอ ใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชั่วโมง หน้าฝนใครไม่พกจอบ พกเสียม เค้าไม่ให้ขึ้นรถนะ เผื่อรถติดหล่มจะได้ช่วยกันกลบหลุมกลบร่อง ผมต้องเอาชุดใส่ถุงพลาสติกไปเปลี่ยน แล้วฝากไว้ที่ป้อมตำรวจ ขากลับก็มาเปลี่ยนใส่ชุดเก่า”
พื้นที่กันดาร ห่างไกลบ้านเกิด รสอาหารไม่คุ้นลิ้น ภาษาสื่อสาร เป็นอุปสรรคระหว่างทำงานจนมนูญเกือบถอดใจกลับบ้านหลายหน แต่ทุกครั้งเค้าจะนึกถึงพระองค์เสมอ จนอยู่ที่นี่มานานถึง 25 ปี เริ่มจากงานส่งเสริมการปลูกกาแฟ โดยนำต้นพันธุ์มาจากศูนย์ ฯ แม่หลอด ระยะแรกใด้ผลผลิตน้อยมาก เแก้ไขปรับปรุงจนได้เมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมเป็นที่ยอมรับ
“การบินไทยกับอเมซอนคือลูกค้าหลัก ส่วนสตาร์บัคส์เป็นคู่ค้าที่เข้ามาทีหลัง กลุ่มชาวบ้านก็สร้างแบรนด์ห้วยห้อมของเค้าเอง ต้นกาแฟสร้างเรื่องราวหลายอย่าง อาชีพ รายได้ ป่า น้ำและระบบธรรมชาติที่สมบูรณ์”
มะลิวัลย์พาเราขึ้นเขาไปดูไร่กาแฟ หนทางร่มรื่นไต่ระดับสูงชันขึ้นเรื่อย ๆ จนมองเห็นบ้านแต่ละหลังเล็กกว่านิ้วก้อย เป็นเส้นทางที่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระดำเนินขึ้นมา มีพระราชดำรัสว่าบนนี้มีแหล่งน้ำ แต่ไม่มีที่กักเก็บ ต้องขุดบ่อและให้ปลูกต้นไผ่ใช้แทนท่อส่งน้ำ ภายหลังได้พา “ตาเลอะ ขันเขียว” พ่อของมะลิวัลย์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในตอนนั้น ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูการทำประปาหมู่บ้านที่ดอยสุเทพ
ลุงตาเลอะลงมือขุดบ่อด้วยจอบ ทำลำพังคนเดียวไม่เอ่ยปากเรียกใครมาช่วย แต่ก็มีลูกบ้านคว้าจอบเสียมมาร่วมแรงบ้างในช่วงหลัง ใช้เวลา 10 ปี หมดจอบปีละสองด้าม บ่อน้ำขนาด 30x50x50 เมตร ที่เรียกว่า “บ่อพ่อ” จึงสำเร็จด้วยความวิริยะอุตสาหะ เป็นบ่อเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง มี “บ่อแม่” ใกล้ ๆ กันเป็นบ่อสำรอง และ “บ่อลูก” สำหรับเอาไว้ใช้ในคอกแกะ
“ลุงตาเลอะเป็นเกษตรกรรายแรกที่เข้ามาร่วมปลูกกาแฟ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งอะไรแกปลูกหมด เป็นคนขยันมาก หกโมงครึ่งเดินขึ้นเขาไปแล้ว ประมาณแปดโมงลงมากินข้าวเสร็จแล้วขึ้นไปใหม่” มนูญบอก
แม้ลุงตาเลอะจะจากลูกหลานไปเมื่อปีก่อน แต่สิ่งที่ทำเป็นแบบอย่างให้คนในหมู่บ้านเห็นและปฏิบัติตาม บ้านห้วยห้อมสมบูรณ์พร้อมทั้งป่า แหล่งน้ำ อาชีพทำกิน ด้วยพระเมตตาของพ่อหลวง ทรงชี้นำทางจนพวกเขาร่ำรวยรอยยิ้มแห่งความสุขในทุกวันนี้
ศาสตร์ของพระราชาเริ่มจากสวมหมวกให้ภูเขา ใช้พื้นที่ด้านล่างทำการเกษตร ป่าข้างบนจะค่อย ๆ เจริญเติบโตฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ เชิงเขาปลูกไม้ผล ถัดลงมาเป็นพืชอายุยาวอย่าง เคพกู้ดเบอรี่ มะเขือม่วง ฯลฯ ลดหลั่นมาอีกชั้นเป็นพืชผักอายุสั้นปลูกเร็วขายเร็ว ปลูกข้าวนาปีเฉพาะบริโภคในครัวเรือน โครงการหลวงเตรียมตลาดรองรับผลผลิตไว้ล่วงหน้า ชาวบ้านจึงมีรายได้หมุนเวียนตลอดสิบสองเดือน
บ้านห้วยห้อมถูกจริตกับกาแฟเพราะสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ส่วนหมู่บ้านอื่นรอบ ๆ ศูนย์ฯ แม่ลาน้อย โฟกัสไปที่ไม้ผลและพืชผัก เกษตรกรรับต้นกล้าไปปลูก เก็บผลผลิตมาส่ง ส่วนของต้นทุนจะถูกหักเข้าศูนย์
มนูญยังพบว่า วิธีเรียนรู้จากธรรมชาติของชาวบ้านกับหลักวิชาการ แท้จริงคือเรื่องเดียวกัน แต่ชาวบ้านไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลอย่างในตำราได้
“ชาวบ้านเค้าทำไร่หมุนเวียน ทำตรงนี้เจ็ดปีแล้วย้าย อีกเจ็ดปีก็ย้อนกลับมาที่เดิม เราถามว่าทำไมต้องเจ็ดปี เค้าบอกว่าน้อยกว่านั้นไม้ยังอ่อนเอาไปทำประโยชน์ไม่ได้ มากกว่านั้นแข็งเกินไปฟันยาก ความจริงคือดินได้รับการฟักฟื้นตามธรรมชาติ เรื่องทำนาเราถามว่าทำไมต้องเผาตอซังข้าว เค้าบอกว่าฆ่าเชื้อ เผาเสร็จปลูกอะไรก็งาม แต่สาเหตุคือดินที่นี่สภาพค่อนข้างเป็นกรด เผาแล้วจะได้ขี้เถ้าซึ่งเป็นด่าง เราก็อธิบายให้เค้าฟัง แล้วเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงดินแทนการเผาให้เค้าดู บอกอย่างเดียวไม่ได้ ชาวบ้านเค้าไม่เชื่อหรอก เราต้องพิสูจน์ให้เห็น”
บ้านห้วยห้อมยังทอผ้าขนแกะนุ่ม ๆ ซึ่งมีต้นทางจากแกะที่มิชชันนารีนำเข้ามาในหมู่บ้าน ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงส่งเสริมให้นำแกะจากต่างประเทศ เข้ามาเลี้ยงปรับปรุงสายพันธุ์แล้วแจกจ่ายให้ชาวบ้าน แต่ปริมาณขนแกะไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ
เราตามรอยขนแกะไปถึงศูนย์ ฯ ปางตอง แกะฝูงใหญ่แยกย้ายกันเล็มหญ้าอย่างเพลิดเพลิน บางส่วนหลบร้อนไปนอนเล่นในคอก
“การปรับปรุงพันธุ์แกะเริ่มจากพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ ให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้านห้วยห้อม โดยนำเข้าแกะขนยาวพันธุ์บอนด์กับคอร์ริเดล เป็นแกะกึ่งเนื้อกึ่งขน เข้ามาทดลองเลี้ยงพัฒนาสายพันธุ์ ว่าสามารถทนอยู่กับสภาพอากาศบ้านเราได้หรือไม่ ปรากฏว่าอยู่ได้และคุณภาพขนนุ่มกว่าพันธุ์ดอร์เซ็ทที่ชาวบ้านเลี้ยงอยู่”
ภูรี วีระสมิทธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน กรมปศุสัตว์ ขยายความให้ฟังต่ออีกว่า
“แกะที่นี่มีสองร้อยกว่าตัว จะตัดขนปีละครั้ง ก่อนเข้าฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม ปริมาณโดยเฉลี่ยตกประมาณ 5 กิโลกรัมต่อหนึ่งตัว ตอนนี้เราส่งขนแกะให้ทางห้วยห้อมปีละ 300 กิโลกรัม เป็นการสนับสนุนแบบให้เปล่า ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกำลังขยายไปยังพื้นที่ทดลองเลี้ยงอื่นอย่าง เชียงใหม่ โดยมีคุณมะลิวัลย์ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับการทอผ้าควบคู่กันไป”
ขนแกะที่ได้ต้องผ่านการล้าง ซัก ฟอก สางยีด้วยแปรงซี่เล็ก ๆ ที่นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ทุกขั้นตอนทำด้วยความประณีต จนได้ขนแกะขาวสะอาดนุ่มฟู นำไปปั่นเป็นเส้นใยเพื่อใช้ทอ บ้านห้วยห้อมจึงมีผ้าทอจากขนแกะดอร์เซ็ทและอีกสองพันธุ์ซึ่งได้รับการสนับสนุน หากสัมผัสจะรู้สึกถึงความแตกอย่างชัดเจน กว่าจะได้ผ้าหนึ่งผืนใช้เวลาร่วมเดือน กลุ่มห้วยห้อมทุ่มเทกับเรื่องนี้มาก พัฒนาฝีมือและรูปแบบจนชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น
ชั้นสองของบ้านมะลิวัลย์ แขวนภาพถ่ายเก่าเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสต้นบ้านห้วยห้อมไว้บนข้างฝา บ้านหลังนี้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย โต๊ะอาหาร ร้านกาแฟ โชว์รูม โฮมสเตย์ คลังเก็บสินค้า ห้องรับแขก … คอยต้อนรับอาคันตุกะต่างถิ่นที่แวะเวียนมาทุกฤดูกาล อยากเดินเก็บเมล็ดกาแฟ แวะทักทายฝูงแกะ ดูนาขั้นบันไดสวย ๆ ของแม่ลาน้อยในช่วงปลูกข้าว ชิมอาหารท้องถิ่น จิบกาแฟหอมกรุ่น ที่นี่มีโฮมสเตย์หลายหลัง ติดต่อได้โทร. 08-9555-3900 Line ID 08 9854 0914
“ในหลวงและพระราชินี มีบุญคุณกับเรามาก ชาตินี้คงตอบแทนไม่หมด” มะลิวัลย์บอกความรู้สึก
เฮลิคอปเตอร์ของพระราชาผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ซึ่งลงจอดกลางป่าเมื่อหลายสิบปีก่อน เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านไปตลอดกาล