Go Local KALASIN

กาฬสินธุ์

เรารู้จักกาฬสินธุ์ในฐานะเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาของชาวผู้ไท ที่มีความละเอียดลออในการถักทอ ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งได้มีโอกาสสัมผัสทำให้พบว่า เมืองสงบเงียบมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ที่ไม่ค่อยถูกเอ่ยชื่อถึงบ่อยนัก กลับมีหลายเรื่องที่น่าจะหยิบมาเล่า เป็นเกร็ดความรู้ในอีกมุมหนึ่งของจังหวัดนี้

หมูทุบอบไฟธรรมชาติบ้านนาจารย์

เนื้อหมูที่เลี้ยงด้วยมันสำปะหลังอัดเม็ด ส่วนสะโพกขาหลังและเนื้อสัน เลาะพังผืดและส่วนที่เป็นไขมันออก แล่เป็นชิ้นหนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร เคล้าเครื่องปรุงอย่าง เกลือ ซีอิ้วขาว น้ำตาล เครื่องปรุงสมุนไพรสูตรเฉพาะ หมักทิ้งไว้หนึ่งคืน รุ่งเช้านำมาตากแดดในโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Green House) ราว 6 ชั่วโมง

นำหมูที่ได้มาอบด้วยความร้อน ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ค่อย ๆ ทุบด้วยค้อนกลม ทุบตามเส้นใยในขณะที่ยังร้อน หากปล่อยให้เย็นแล้วนำมาทุบ เนื้อหมูจะแตกขาดไม่สวยงาม หมูที่ผ่านการทุบจะจัดวางลงในกระด้ง แล้วนำไปผึ่งความร้อนจากเตาถ่าน เพื่อไล่ความชื้น ช่วยให้เนื้อหมูกรอบนุ่ม จากนั้นจึงนำมาบรรจุลงกล่องเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป

หมูทุบกาฬสินธุ์

หมูทุบบ้านนาจารย์

หมูทุบอบไฟธรรมชาติบ้านนาจารย์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2544 ในขณะที่ราคาหมูตกต่ำ คุณอัจฉรา เดชพรรณา ผู้นำชุมชนในขณะนั้น จึงคิดหาทางออกด้วยการนำมาแปรรูป โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากหลายหน่วยงาน จากนั้นจึงรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนเป็น “กลุ่มแม่บ้านแปรรูปเนื้อสัตว์บ้านนาจารย์” ขึ้นมา นอกจากหมูทุบแล้ว ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มยังมี หมูเค็ม ปลาร้าบอง ปลาร้าทรงเครื่อง เป็นของฝากที่สร้างชื่อให้หมู่บ้าน สร้างรายได้และรอยยิ้มให้คนในชุมชน สร้างความอร่อยให้กับคนกิน

… สอบถามสั่งซื้อได้ที่ โทร. 08 7215 8459 …

หมูทุบบ้านนาจารย์กาฬสินธุ์

Go Local KALASIN

กุ้งก้ามกราม กาฬสินธุ์

“เมื่อก่อนเราเป็นชาวนาปลูกข้าว แต่ยิ่งทำเหมือนจะยิ่งแย่ลง ข้าวราคาตก”

พัชราวลัย ไร่ไสว เล่าความรู้สึกก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางจากนาข้าวเป็นฟาร์มกุ้งที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ในชื่อ “P.P. ฟาร์ม กุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์”

ช่วงเวลาที่คิดหาช่องทางเพื่อมาเสริมอาชีพทำนา เธอมีโอกาสเข้ามาดูงานเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในระบบฟาร์มปิดในพื้นที่ภาคกลาง จึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ภาคกลางกับภาคอีสาน เมื่อมั่นใจจึงได้ลงมือทำ จนปัจจุบันพื้นที่นาทั้งหมดเปลี่ยนเป็นฟาร์มกุ้ง 100%

กุ้งกาฬสินธุ์

กุ้งกาฬสินธุ์
“เรื่องน้ำเราไม่ห่วงเพราะเราอยู่ในเขตชลประทาน แต่ปัญหาที่เราเจอในช่วงแรกคือ ดินที่เคยเป็นที่นามาก่อน คุณภาพจะแย่กว่าปกติ เพราะมีสารตกค้างจากปุ๋ยและยา ก็ปรับแก้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 2 ปี จึงเข้าที่เข้าทาง

“หลังจับกุ้งแล้ว จะต้องลอกบ่อให้แห้ง โรยปูนขาวให้ทั่วเพื่อปรับสภาพดิน ตากบ่อไว้สักระยะหนึ่งไม่มีระยะเวลาแน่นอน แล้วแต่ว่าแดดแรงมากหรือน้อย เมื่อได้ที่เราถึงจะเติมน้ำเข้าบ่อ ของเราขุดลึกประมาณเมตรครึ่ง ตื้นกว่านี้มีโอกาสที่กุ้งจะตายหรือโตช้าเพราะความร้อนจากแดด ลูกกุ้งจะเลี้ยงในบ่ออนุบาลประมาณเดือนครึ่ง จึงย้ายไปอยู่ในบ่อเลี้ยงขนาดใหญ่ ควบคุมปริมาณกุ้งไม่ให้หนาแน่นเกินบ่อละหนึ่งหมื่นตัว แล้วแต่ขนาดของบ่อ ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เป็นลูกกุ้งจนจับขายประมาณ 5 เดือน”

กุ้งกาฬสินธุ์

กุ้งกาฬสินธุ์

ปัจจุบันอำเภอยางตลาด บ้านของพัชราวลัย ถือเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งแหล่งใหญ่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ลูกค้าหลักคือ ร้านอาหารในพื้นที่กาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียงอย่าง ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย ฯลฯ P.P.ฟาร์มฯ ยังเป็นสถานที่อบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป

… สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08 3639 4696 …

  • แม้ว่ากุ้งเลี้ยงตัวจะไม่โตเหมือนกุ้งจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่คนกาฬสินธุ์เค้ารับประกันความสด เพราะกุ้งเดินทางเข้าร้านแบบวันต่อวัน ห้ามพลาดเมนูกุ้งเผากับน้ำจิ้มรสแซ่บ เมื่อมาเมืองนี้

กุ้งเผากาฬสินธุ์

Go Local KALASIN

ขนมปาด บ้านสองห้อง

ขนมปาดเป็นขนมมงคลที่ทำเนื่องในโอกาสสำคัญอย่างงานบุญต่าง ๆ แต่หน้าตา สี รสชาติของขนมปาดที่บ้านสองห้อง อ.ร่องคำ กลับไปละม้ายขนมเปียกปูนมากกว่าขนมปาดทางภาคเหนือ ที่ออกสีน้ำตาลเข้มเพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลอ้อย

เขาจะใช้ข้าวเกษตรพันธุ์เหลือง 11 ของ อ.กมลาไสย แช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง แล้วนำมาโม่ด้วยโม่หินแบบวิธีโบราณ กรองด้วยผ้าขาวบางแล้วโม่ซ้ำจนได้แป้งเนื้อละเอียดเนียน จับมาผสมกะทิ เติมสีแต่งกลิ่นด้วยน้ำใบเตยคั้นสด

ขนมปาดบ้านสองห้อง

ขนมปาดกาฬสินธุ์

ยกขึ้นเตา กวนไปเรื่อย ๆ ประมาณหนึ่งชั่วโมง แป้งสุกแล้วเพิ่มหวานด้วยน้ำตาลทราย เทใส่ถาด ผึ่งไว้ให้เย็นเสริมหน้าตาให้สวยด้วยงาขาวคั่ว ตัดแบ่งเป็นชิ้นวางลงบนใบตอง โรยด้วยมะพร้าวขูดพร้อมเสิร์ฟ

ขนมปาดบ้านสองห้อง

“ถ้าใส่น้ำตาลไปพร้อมกันตอนแรก จะทำให้แป้งที่กวนได้เละ ไม่จับตัว น้ำนี่ก็เหมือนกัน ถ้าใส่มากจะทำให้แห้งช้า ใช้เวลากวนนานขึ้น แป้งจะแข็งกระด้างไม่อร่อย”
… คุณป้าบอกเคล็ดลับให้ฟัง …

ขอขอบคุณ : กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

artoftravelercom