สายมากแล้วแต่ตลาดอู่ทองยังขวักไขว่ด้วยรถรา นอกจากเป็นย่านการค้า แหล่งจับจ่ายของกินของใช้ ยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อพระยาจักร ศิลาโบราณสมัยทวารวดีแกะสลักคล้ายรูปพระวิษณุ ถูกพบบริเวณท่าพระยาจักร ริมน้ำจรเข้สามพัน เมื่อชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัย ได้ตั้งศาลเจ้าแล้วอันเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นบูชา ณ กลางใจเมือง
ศรัทธาวิถี
ชาว อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เลื่อมใสศรัทธาต่อองค์เจ้าพ่อพระยาจักร เป็นที่พึ่งสร้างพลังใจในยามพบอุปสรรคและมีความเชื่อว่าเจ้าพ่อชอบขนมจีน
“โอ” หาบขนมจีนวางตรงแท่นบูชา จุดธูปประนมไหว้ เค้าเล่าว่า ขอพรบางอย่างเกี่ยวกับหน้าที่การงานไว้ เมื่อสำเร็จจึงมาแก้บนด้วยขนมจีน ที่สั่งมาจากแถว ๆ ชุมชนท่าพระตะวันออก ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล ชาวบ้านย่านนั้นยึดอาชีพทำขนมจีนอยู่สิบกว่าครัวเรือน โออาสานำพาไปถึง “บ้านขนมจีน” จังหวะเดียวกับที่กำลังมีการสาธิต ให้นักท่องเที่ยวทดลองทำขนมจีนแป้งหมักด้วยวิธีโบราณอยู่พอดี (อ่านวิธีทำขนมจีนโบราณได้ที่ … เส้นสีคำอร่อย บ้าน ขนมจีนเมืองโบราณอู่ทอง)
“คนแถวนี้ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ข้าวที่เหลือจากแบ่งไว้กินไว้ขาย คุณทวดเลยเอามาลองทำขนมจีน กินเองบ้างแบ่งให้เพื่อนบ้านบ้าง เวลามีงานบุญก็ทำไปเลี้ยงพระ เลี้ยงคน จนมารุ่นย่า รุ่นแม่ แล้วก็มาถึงรุ่นเรา”
จริน ชื่นจรเข้ คนรุ่นสี่ที่สืบทอดอาชีพ เล่าให้ฟังพอสังเขป ส่วนเรื่องทำไมนิยมบนด้วยขนมจีน ไม่มีลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้ ทุกอย่างเป็นเพียงการคาดเดา
“อาจเป็นไปได้ว่า มีร้านขายขนมจีนอยู่หน้าศาล คนที่ไปไหว้ก็คงไม่รู้จะบนอะไร เลยบนด้วยขนมจีน พอสำเร็จก็ทำต่อ ๆ กันมา พ่อกับแม่บอกว่าเห็นมาตั้งแต่ยังเด็ก เค้าว่ากันว่าเจ้าพ่อชอบ”
แม้จะสืบค้นต้นทางของเรื่องนี้ไม่เจอ แต่ศรัทธาได้เชื่อมร้อยวิถี จนแนบแน่นเป็นเนื้อเดียว อาชีพทำขนมจีนของชุมชนท่าพระตะวันออก ยังถูกลูกหลานเดินตามรอยที่บรรพบุรุษเบิกทางไว้ ปล่อยเรื่องขนมจีนแก้บนเป็นปริศนาต่อไป
โอเอ่ยชวนไปเขาพระ เพราะภารกิจยังไม่จบ เค้าเป็นเด็กหนุ่มจากอยุธยา หลังเรียนจบโบราณคดี สอบเข้าทำงานเป็นลูกจ้างขององค์กรแห่งหนึ่ง ไป ๆ มา ๆ กรุงเทพฯ – อู่ทอง อยู่บ่อย ๆ เมื่อสอบบรรจุเข้ารับราชการในอีกหน่วยงานสำเร็จ จึงมาทำตามข้อผูกมัด จากสัจจะสัญญาที่เคยบอกต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะย้ายไปประจำที่ภาคอีสานตามคำสั่งทางการ
ถนนวินยานุโยค ตรงดิ่งเข้าประตูวัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม บริเวณที่เรียกว่าเขาพระ จากโบราณวัตถุสถานที่พบเช่น ฐานเจดีย์ พระวิษณุศิลาบริเวณหน้าถ้ำด้านทิศใต้ ที่ถูกกราบไหว้กลายเป็นเทพเจ้าจีนในชื่อ “เจ้าพ่อจักรนารายณ์” เชื่อว่าบริเวณนี้เคยเป็นวัดเก่าแก่ในยุคทวารวดี โอนำไข่ต้มไปถวายแก้บน หน้าองค์หลวงพ่อสังฆ์ศรีสรรเพชญ์ พระนอนที่ประดิษฐานอยู่ใต้เพิงหินขนาดใหญ่ระหว่าทางเดินขึ้นเขา “ไข่ต้ม” เป็นคำถามที่ย้อนหาคำตอบไม่ได้เช่นกัน
ตามกลิ่นพริกแกงไปถึงครัวหนองเสือ
เสียงตะหลิวกระทบกระทะดังลั่นห้องแถวเล็ก ๆ ริมถนนมาลัยแมน กลิ่นเครื่องแกงหอมฉุนโชยเข้าจมูกจนต้องจามหลายตลบ ชื่อเสียงรสมือกลุ่มแม่บ้านครัวหนองเสือนั้นไม่เบา โดยเฉพาะเมนูแกงป่า นอกจากเครื่องแกงรสจัดจ้านถึงพริกถึงขิง ยังมีหมัดเด็ดเคล็ดอร่อย เพิ่มความเข้มข้นให้น้ำแกงด้วยน้ำซาวข้าว แต่เลือกใช้นำรอบที่สองเพราะสะอาดปราศจากฝุ่งผง มื้อนี้เลยเติมข้าวกันเพลินจนลืมนับจาน เพราะบนโต๊ะมี แกงไก่บ้านผักหวานป่า แกงป่าไก่ ฉู่ฉี่ปลาหมอ มะเขือยาวผัดน้ำมัน ไข่เจียว ฯลฯ
กับข้าวในหม้อหน้าร้านหมดค่อนข้างเร็ว หลังเที่ยงก็เกลี้ยงหม้อ แต่มีอาหารตามสั่งจานเดียวช่วยเยียวยาความผิดหวัง หลังร้านครัวหนองเสือเชื่อมถึงพื้นที่บ้านของพี่กิต กิตติ์ธเนศ พุฒพีระวิทย์ ที่ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยเฉพาะการจักสาน งานฝีมือสร้างชื่อของคนที่นี่ หากมาเป็นกลุ่มและสนใจเรียนรู้ เค้าจะให้ลงมือสานที่รองแก้ว งานแฮนด์เมดติดมือกลับบ้าน พร้อมอาหารหวานคาวหนึ่งมื้อ
(FB : ครัวหนองเสือ / โทร.06 3209 3201)
ชุมชนต่าง ๆ ในเขตเมืองโบราณอู่ทอง รวมกลุ่มกันในชื่อ “ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯ เมืองโบราณอู่ทอง” หยิบของเด่นแต่ละชุมชนมาร้อยรวมเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เราเข้าเช็คอินที่ “บ้านหน้าผา” บ้านเก่าแก่ที่
เพชรรัตน์ บุญอำไพไชยกุล หรือเจ้จิ๋ม ดัดแปลงเป็นที่พัก ห้องใหญ่ชั้นบน 3 ห้อง นอนได้ 3/6/9 คน ชั้นล่างมีห้องเล็กพักได้สองคนอีกสองห้อง
ห้องน้ำห้องอาบน้ำแยกฝั่งหญิง-ชาย เครื่องครัวพร้อมอุปกรณ์อยู่หลังบ้าน น้ำดื่มเรียงไว้เต็มตู้เย็น ชา กาแฟ โอวันติน บริการตัวเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนอาหารต้องแจ้งล่วงหน้า มีห้องประชุมเล็ก ๆ จุคนได้ประมาณสามสิบ พื้นที่โดยรอบกว้างขวาง (มาก) เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ออกกำลังได้สบาย ๆ WiFi แรงทะลุเมฆ
วิวระเบียงมองเห็นวัดเขาทำเทียม ซึ่งสันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณคดีว่า เป็นวัดแห่งแรกในประเทศ ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระเถระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ มองไปด้านขวาจะเห็น “สมเด็จพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” แกะสลักบนหน้าผาแบบแจ่มตา เป็นที่พักชุมชนซึ่งเพียบพร้อมในราคาเบากระเป๋า
(FB : บ้านหน้าผาโฮมสเตย์ อู่ทอง)
ขึ้นพุหางนาค แวะบ้านป้าต้อย เชื่อมร้อยประวัติศาสตร์
ฝนขาดเม็ดไปแต่ย่ำรุ่ง เลยชักชวนกันปั่นจักรยานที่บ้านหน้าผามีไว้บริการแบบฟรี ๆ เพียงช่วยดูแลฉีดน้ำล้างล้อก่อนเก็บหากเปรอะเปื้อนดินโคลน แวะนมัสการพระองค์ใหญ่ ไต่ขึ้นไปถึงสันอ่างเก็บน้ำเขาพระ สูดอากาศเย็นชื่นใจ ที่สายลมหอบมาฝากจากบนยอดเขาเอาไว้เต็มปอด
เราสามารถปั่นขึ้นเขาไปยังจุดเริ่มต้นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “สวนหินพุหางนาค” ได้ไม่ยาก แต่ขอออมแรงกลับมาจัดการมื้อเช้า เตรียมน้ำไว้ดับกระหาย แล้วขับรถจากบ้านหน้าผาขึ้นไปด้านบน ถนนลาดยางหนทางสะดวก เป็นอีกเส้นทางยอดนิยมของนักปั่น
สมพงษ์ แตงทัพ หนึ่งในชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้ ผลักดันให้สวนหินพุหางนาคกลับคืนเป็นป่าชุมชน รอดพ้นระเบิดจากอุตสาหกรรมโรงโม่หิน เป็นมัคคุเทศก์อาสาพาเดินชมพื้นที่ โดยไม่เรียกร้องเงินทอง แต่นักท่องเที่ยวล้วนยินดีมอบสินน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อตอบแทน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติรอบเล็กใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง ส่วนรอบใหญ่ขึ้นอยู่กับกำลังของแต่ละคน ก่อนขึ้นเขาไม่ลืมแวะสักการะหลวงพ่อปู่ใหญ่ พระพุทธไสยาสน์ศักดิ์สิทธิ์คู่พุหางนาค ระหว่างทางจะพบหินรูปร่างแปลกตาที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลก พืชพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ ดอกไม้หลากชนิด ปลายทางเป็นจุดชมวิวเมืองอู่ทอง วนเป็นวงกลมกลับมายังจุดเริ่มต้น พี่สมพงษ์เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ซ่อนองค์ความรู้ไว้แน่นกระเป๋า แถมยังคุยสนุกเพลิดเพลินจนลืมระยะทางและความเหนื่อย
ลงจากเขาเราจอดรถที่วิสาหกิจชุมชนต้นแจง มาลองทำยาดมหัวโตที่ป้าต้อย เครือวัลย์ คล้ายจินดา หยิบเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น นำสมุนไพรอย่างพริกไทยดำ กานพลู สมุลแว้ง ผิวมะกรูดอบแห้ง ลูกจันทร์ เปลือกส้ม
มาผสมเมนทอล พิมเสน การบูร ปรุงเป็นยาดม
ความพิเศษอยู่ที่ฝาปิด ดีไซน์เป็นตุ๊กตาทวารวดี ให้เราแต้มสีสวย ๆ ด้วยจินตนาการ ป้าต้อยนำต้นแบบมาจากหน้าคนยุคทวารวดีบนแผ่นดินเผา โบราณวัตถุซึ่งขุดพบในเขตเมืองโบราณอู่ทอง เก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
เป็นสถานที่ห้ามพลาด หากมาเยือนอู่ทอง เพราะเก็บรวมหลักฐานทางโบราณคดี ที่ยืนยันว่าย่านนี้เคยเป็นเมืองสำคัญในวัฒนธรรมทวารวดีเมื่อราว 1,000 – 1,400 ปีก่อน เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างซีกโลกตะวันตกกับตะวันออก ซึ่งรับเอาอารยธรรมภายนอกโดยเฉพาะอินเดีย มาผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งศาสนา ศิลปกรรม ความเชื่อ ตัวอักษร มีการค้นพบลูกปัดทวารดี หลากหลายรูปแบบจำนวนมากในสภาพสมบูรณ์
คนอู่ทองยุคเก่าเล่าว่า ลูกปัดพบเห็นได้ทั่วไป ยิ่งเวลาฝนตก หน้าดินถูกชะล้าง ก็เจอได้ง่าย ๆ เหมือนลูกหินริมทาง จนหลายคนร่ำรวยจากการค้าขายลูกปัดนอกจากยาดมหัวโต ยังมีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ หล่อและตอกจารึกอักษรปัลลวะ ตามแบบเหรียญทวารวดีที่โรงหล่อวิเชียร หรือนั่งร้อยลูกปัด ปั่นจักรยานโบราณเที่ยวหมู่บ้านที่ชุมชนลาวครั่ง บ้านโคก
ผักปลอดภัย ไข่ไก่อารมณ์ดี อิ่มหมีที่ดงเย็น
โลกสีเขียวของดงเย็น สัมผัสได้ตั้งแต่เลี้ยวเข้าหมู่บ้าน จนมาถึงศูนย์เรียนรู้ ไก่ฝูงใหญ่คุ้ยเขี่ยอาหารแล้วทิ้งตัวหลบอยู่ใต้ร่มมะเขือ ใกล้กันมีผักสวนครัวปลูกแซม แวว สว่างแจ้ง หัวแรงสำคัญของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรดงเย็น ทักทายด้วยสำเนียงเหน่อสุพรรณ พร้อมรอยยิ้มเปี่ยมสุข
“วันนี้มีคนแวะเข้ามาหลายกลุ่ม”
ไม่แปลกใจที่ได้ยินคำนี้ เพราะบ้านดงเย็นเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอด เรื่องทฤษฎีเกษตรอินทรีย์ ตามศาสตร์พระราชา ก่อนจะพบหนทางดับทุกข์ เธอและผู้คนที่นี่เคยวนเวียนอยู่กับเกษตรแบบพึ่งพาเคมี จนมองเห็นผลเสียคิดเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบปลอดภัย จังหวะเดียวกับที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เข้ามาสนับสนุนมอบองค์ความรู้ที่ถูกต้อง จนค่อย ๆ สำเร็จเป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในหมู่บ้านอย่างปัจจุบัน
วอเตอร์เครสเขียวอวบอิ่มหลายตะกร้า เริ่งร่าอยู่ในโรงเรือนกลางแจ้ง ที่ถูกลดทอนความร้อนด้วยตาข่ายกรองแสง เป็นผักปลูกง่าย มากประโยชน์ อุดมด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ ยังเป็นเมนูโปรดของเหล่าบรรดาไก่ไข่ฝูงใหญ่ที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อย ในอาณาเขตกว้างใหญ่ซึ่งจัดไว้ทั้งแบบ Indoor/Outdoor ในพื้นที่เดียวกัน พี่แววเล่าว่าหัดไก่ให้กินหยวกกล้วย พืชผักต่าง ๆ ตั้งแต่อายุไม่กี่วัน เปิดเพลงให้ฟังอยู่บ่อย ๆ ไก่ที่นี่จึงเป็นไก่อารมณ์ดี ให้ไข่แดงสีเหลืองสด ต่างจากไก่ฟาร์มที่สีจะออกส้ม
ปัจจุบันบ้านดงเย็นเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% รอบ ๆ บ้านทุกหลังคาเรือน ปลูกผักสวนครัวในกระถางและบนพื้นดิน ใช้พื้นที่แต่ละตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์ ทำปุ๋ยไส้เดือนไว้ใช้เอง เลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ ทำนาข้าวอินทรีย์ ฯลฯ เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับคนในชุมชน การมาเที่ยวที่นี่จึงเน้นเรียนรู้ ด้วยวิธีปั่นจักรยาน เข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้ ชิค ๆ คูล ๆ แบบเกษตรอินทรีย์ (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น โทร.08 3308 8144)
มาถึงถิ่นผักปลอดภัย ไข่ไก่อารมณดี เลยต้องลองลิ้มรสความสดกรอบของผักและดอกไม้แกล้มน้ำพริก ไข่เจียว ข้าวอินทรีย์เมล็ดนุ่ม ฯลฯ อิ่มพุงปลอดภัยต่อสุขภาพแบบคนดงเย็น ร่ำลาเมืองอู่ทอง เมืองรองที่เปิดให้ลองรู้ ลองดู ลองทำ ลองชิม ด้วยความอิ่มเอมใจ