เสาร์ อาทิตย์ จัน(ทบุรี)

บ่อพลอยเหล็กเพชร

“มอสส์เขียวเข้มหายหน้าไปตลอดแล้งที่ผ่านมา ออกมาเริงร่าอีกครั้ง พ่วงมาด้วยตะไคร่น้ำลื่นปรื๊ด ทุกก้าวย่างระหว่างเดินขึ้นบันไดสู่เขาพลอยแหวน เพื่อกราบนมัสการรัตนคีรีเจดีย์ จึงเป็นไปด้วยความระมัดระวังเกรงพลั้งพลาด เหมือนการฝึกเจริญสติไปในตัว”

รัชกาลที่ ๔ เคยเสด็จธุดงค์ผ่านครั้งยังทรงผนวช ทรงโปรดให้พระยาจันทบุรี นำพระบรมธาตุขึ้นไปบรรจุไว้ในเจดีย์บนยอดเขา สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประพาสสถานที่แห่งนี้ เขาพลอยแหวนคือบันทึกอีกหนึ่งหน้าในประวัติศาสตร์ชาติ เป็นจุดชมพระอาทิตย์วันใหม่ มองเห็นวิวทิวทัศน์ได้เกือบรอบทิศ

เขาพลอยแหวนจัดเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ครั้งเกิดการปะทุ ลาวาได้นำพาผลึกอัญมณีมีค่าใต้ชั้นผิวโลกโดยเฉพาะพลอย ขึ้นไปตามรอยแยกของเปลือกโลก ผ่านขบวนการทางธรณีวิทยากินเวลาหลายพันปี แหล่งพลอยจึงมีทั้งบนเขา เชิงเขาและส่วนที่ถูกน้ำใต้ดินพัดพาลงไปยังที่ราบลุ่มปนอยู่กับกรวด ทราย ในละแวกที่ถูกเรียกว่า “ลานแร่บางกะจะ” กินพื้นที่ ต.บางกะจะ อ.เมือง และบางส่วนของ อ.ท่าใหม่ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน

เขาพลอยแหวน

เขาพลอยแหวน

Amazing Thailand Go Local – เขาพลอยแหวน

บ่อพลอยเหล็กเพชร
ขุมทรัพย์ในสวนผลไม้

“ตระกูลเหล็กเพชรของเรา ทำพลอยมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด คุณตา แม่แล้วก็รุ่นผม ถ้าจะนับโดยประมาณก็เกิน ๑๒๐ ปี ตรงนี้อยู่ในเขตตำบลสีพยา อำเภอท่าใหม่ ซึ่งติดต่อกับบางกะจะ ของเขตอำเภอเมือง”

กุ๊ก – สราวุธ พึ่งตระกูล ทายาทผู้สืบเชื้อสายคนขุดพลอยบอกกับเรา นับเป็นความโชคดีเพราะที่ดินบริเวณนี้ อยู่ในตำแหน่งซึ่งถูกเรียกว่า “จุดพลอยตก”ห่างจากเขาพลอยแหวนประมาณ ๓ กิโลเมตร พบพลอยชนิดต่าง ๆ ในปริมาณมาก คุณภาพดีมีมูลค่าสูง บริเวณบ่อพลอยของตระกูลเหล็กเพชรในอดีต จึงคึกคักไปด้วยพ่อค้าแม่ค้า ที่มาประมูลสู้ราคาแข่งกันแน่นปากบ่อ

บ่อพลอยเหล็กเพชร
“สมัยก่อนจะมีคนร่อนพลอยอยู่ในบ่อประมาณสามสี่คน ผมจะทันรุ่นคุณตา เวลาเจอพลอย ท่านจะเป็นคนตั้งราคา เม็ดนี้สามหมื่น เม็ดนี้ห้าหมื่น คนที่มาซื้อเค้าก็ประมูลแข่งกันตรงนั้นเลย เป็นสิ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่จำความได้ เพราะบ่อร่อนพลอยเป็นสระว่ายน้ำของผม”

การขุดบ่อพลอยแบบโบราณ คนที่มีความชำนาญจะสังเกตผิวดินด้านบนที่มักขี้พลอยปะปนเห็นได้ชัด จึงลงมือขุดเปิดหน้าดิน เป็นหลุมกว้างประมาณ ๑ เมตรหรือมากกว่านิดหน่อย ลึกจนไปถึงชั้นดินเหนียวที่มีกรวดปน ก่อนจะถึงชั้นดานซึ่งเป็นหินแข็ง ๆ เรียกบ่อนี้ว่า “บ่อหน้าดาน” กรวดทรายที่ปนกับดินหรือ “ลูกร่อน” จะถูกขนขึ้นมาร่อนใน “บ่อร่อน” เพื่อคัดแยกหาพลอยต่อไป เมื่อถึงชั้นดานต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าโพ่ กระแทกให้ทะลุไปถึงชั้นใต้ดาน ซึ่งมีลักษณะหินเม็ดเล็ก เนื้อละเอียดสีออกแดงกว่าบนดาน แล้วเปลี่ยนไปเรียกบ่อนั้นว่า “บ่อใต้ดาน” ชั้นใต้ดานสามารถขุดเป็นโพรงต่อไปทางซ้ายหรือขวาได้

บ่อพลอยเหล็กเพชร
“ชั้นดานมันจะแข็งมาก ๆ เหมือนปูนเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะถล่ม สมัยก่อนแต่ละบ้านจะหาพลอยด้วยวิธีนี้กันทั้งหมด ตั้งแต่ช่วงพฤศจิกายน พอฝนเริ่มเข้าก็หยุด ที่พบเยอะคือ พลอยสตาร์ เขียวส่อง นิลดำ แต่คนเมืองจันท์จะเรียกขี้พลอย เพราะคุณภาพสู้นิลทางเมืองกาญจน์ไม่ได้ สมัยคุณตาจะหาแค่สามอย่างคือ บุษราคัม ไพลิน ทับทิม ซึ่งปัจจุบันแทบไม่เจอแล้ว อย่างเขียวส่องนี่เจอแล้วทิ้งหรือเก็บเอาไปแจก ตอนผมเด็ก ๆ ยังเอาใส่หนังสติ๊กยิงเล่น”

เขียวส่องที่ว่าหมายถึง กรีน แซปไฟร์ (Green Sapphire) มีสีเขียวทึบ ต้องนำไปส่องไฟหรือแดดจึงจะมองเห็นสีชัด ถูกจัดอยู่ในจำพวกพลอยไม่มีค่า หลังยุคที่พบวิธีเผาไฟเพื่อให้พลอยเปลี่ยนสี พ่อค้าหลายคนที่เก็บหินไร้ค่าใส่โอ่งใส่กระสอบไว้เป็นโกดัง จึงทยอยนำออกมาเผา คนที่ชำนาญสามารถวิเคราะห์เชื้อพลอย เขียวส่องที่มีเชื้อไพลินสามารถเผาให้เป็นไพลินได้ หรือมีเชื้อบุษราคัมก็สามารถเผาเป็นบุษราคัม สร้างเงินได้อย่างมากมายมหาศาล

บ่อพลอยเหล็กเพชร
“เขียวส่องที่ขายได้สมัยก่อน ต้องเก็บขึ้นมาแล้วเห็นเป็นสีเขียวที่เรียกว่า เขียวก้านมะลิ ถ้าเข้มกว่านั้นจะโยนทิ้ง พลอยสตาร์นี่ยิ่งไม่มีค่า โยนทิ้งเลย เขียวส่อง เขียวมรกต กับมรกตจันท์คืออันเดียวกัน เพราะเค้าอยากสร้างให้เขียวส่องที่เจอเยอะ ๆ มีมูลค่าบ้าง เพราะมรกตหรือ Emerald ของต่างประเทศมีมูลค่าสูง”

บ่อพลอยเหล็กเพชร ยังมีโรงงานเจียระไน ขึ้นตัวเรือนเป็นเครื่องประดับแบบต่าง ๆ อยู่ในตัวเมือง เพิ่มช่องทางซื้อขายออนไลน์ การติดต่อพูดคุยจึงสะดวกรวดเร็ว ลูกค้ามาเที่ยวแถบจันทบุรี มักจะแวะเข้ามาทักทาย เป็นแรงบันดาลใจให้สราวุธ เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตชาวสวน เรียนรู้การขุดและร่อนพลอยแบบโบราณ

บ่อพลอยเหล็กเพชร
“เวลาเค้าเข้ามาเที่ยวแล้วเจอกากพลอย ขี้พลอย แม้แต่พวกหินกระบก หินตาตั๊กแตน ที่เราบอกว่ามันอยู่ในชั้นพลอยนะ เค้าก็จะขอกลับบ้าน ความรู้สึกเค้ามันเป็นของมีค่า ทำให้เรามองกลับไปว่า สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันมีค่ามากนะ อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เค้าเห็นวิธีการทำพลอยโบราณ ได้เห็นพลอยที่ปนมากับหิน ซึ่งเค้าแยกไม่ออก เราก็จะบอกเค้าว่าให้ค่อย ๆ มอง ที่บ่อเราปัจจุบันส่วนใหญ่จะเจอเขียวส่อง พลอยสตาร์ พวกพลอยมูลค่าสูง ๆ ถูกขุดไปตั้งแต่รุ่นคุณทวด คุณตาแล้ว”

บ่อพลอยเหล็กเพชรเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ ลงมือขุด ร่อน ค้นหาพลอยแบบโบราณ คิดค่าบริการคนละ ๑๐๐ บาท เด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี (ฟรี) ทางบ่อมีชุดเตรียมไว้ให้เปลี่ยน โดยมีข้อตกลงว่า หากพบพลอยเม็ดใหญ่หรือประเภทที่มีมูลค่าสูง ทางบ่อจะขอเก็บไว้และมอบพลอยเม็ดเล็กเป็นที่ระลึก ส่วนใครได้เม็ดเล็กสามารถนำกลับไปได้หนึ่งเม็ด สำหรับคนที่แวะเข้ามานั่งจิบกาแฟ ชม ช้อป พลอยและเครื่องประดับในร้าน ไม่ต้องจ่ายค่าเข้าชม ช่วงฤดูผลไม้ ยังจะได้ชิมผลไม้สดหลากชนิดที่ปลูกอยู่ในสวนอีกด้วย

บ่อพลอยเหล็กเพชร

“ในบ่อมีอากาศหายใจแต่ไม่เหมือนอากาศด้านบน ข้างล่างจะมีกลิ่นไม้กลิ่นโคลน คนที่ไม่คุ้นเคยแม้แต่ร่างกายแข็งแรงก็อยู่ได้ไม่นาน เต็มที่ได้ลูกร่อนห้ากระป๋อง เราจะบอกทุกคนว่าอย่าฝืน เพราะมันอันตรายตอนขึ้นลง แต่เราคอยดูแลอย่างใกล้ชิด บ่อหนึ่งถ้าเป็นพวกเราขุดหาปกติ ประมาณหนึ่งเดือนก็หมด แต่สำหรับนักท่องเที่ยว เป็นปีก็ยังไม่หมด”

สอบถามและจองคิวล่วงหน้าได้ที่ :
โทร. ๐๘ ๗๘๒๒ ๙๑๓๘ (คุณกุ๊ก)
โทร. ๐๘ ๖๑๕๗ ๖๖๕๕ (คุณติ๋ว)
Facebook : บ่อพลอยเหล็กเพชร

บ่อพลอยเหล็กเพชร
Amazing Thailand Go Local – บ่อพลอยเหล็กเพชร

ทอดน่องท่องวัดพลับ
เพลินพลุงตลาดทุบหม้อ

พุทธคุณเป็นเลิศด้านแคล้วคลาดปลอดภัยของพระยอดธง กรุวัดพลับ บางกะจะ ที่ตามตำนานกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างและใช้พื้นที่บริเวณวัดประกอบพิธีปลุกเสก อาราธนาติดไว้ที่ปลายธงนำทัพ แจกจ่ายแก่ไพร่พลที่เตรียมออกรบเพื่อกู้ชาติบ้านเมือง ลูกหลานบ้านบางกะจะ ล้วนมีพระยอดธงติดบ้านแทบทุกหลัง ว่ากันว่าพระส่วนที่เหลือ พระองค์ทรงนำไปบรรจุในเจดีย์กลางน้ำภายในวัด

พระยอดธงวัดพลับ
ยังมีพระที่ทางวัดจัดสร้างอยู่จำนวนหนึ่ง คุณน้าที่ดูแลบอกว่า ชุดนี้เป็นรุ่นสุดท้ายเพราะทางวัดจะไม่จัดสร้างอีก เลยได้เห็นพระยอดธงเนื้อทองรุ่นเก่าเก็บ ที่พี่เค้าอาราธนาขึ้นคอติดตัวทุกวันเป็นบุญตา รูปแบบของพระยอดธงวัดพลับนั้นไม่ได้สวยงามนัก เพราะต้นแบบถูกสร้างขึ้นมาด้วยความเร่งรีบในภาวะศึกสงคราม หากแลดูเข้มขลังแม้จะผ่านกาลมานานปีแล้วก็ตาม

วัดพลับบางกะจะ
ภายในวัดมีสถานที่สำคัญ เป็นเส้นทาง Walking Tour เริ่มจากสักการะอนุสรณ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ชมลายรดน้ำเหนือประตูหอไตรกลางน้ำ นมัสการเจดีย์กลางน้ำ พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกกิริยา ภายในวิหารไม้ซึ่งมีลายจิตรกรรมแอบซ่อนอยู่ แม้จะชำรุดเลือนรางแต่คุณค่าความงดงามยังแจ่มชัด ติดกันเป็นบ่อน้ำศักดิ์ที่เคยใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมให้แก่ทหารของกองทัพพระเจ้าตาก ยังนำมาเป็นน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ โดยใช้อุโบสถของวัดเป็นสถานที่ประกอบน้ำพระพุทธมนต์

วัดพลับบางกะจะ

ติดกับโบสถ์มีพระปรางค์รูปแบบแปลกตา เป็นสถาปัตยกรรมที่รวมลักษณะของมณฑปและพระปรางค์ไว้ด้วยกัน เดินไปอีกนิดจะพบเรือยาวที่เคยใช้ฉุดลากเรือพระที่นั่งของรัชกาลที่ 5 ที่ติดสันดอนแม่น้ำระหว่างเสด็จประพาสจันทบุรี พระองค์จึงทรงพระราชทานชื่อเรือให้ว่า “หม่อมหัวเขียว” ถัดเข้าไปด้านในจะเจอเมรุเผาศพเจ้านายชั้นสูง บุคคลสำคัญ ทหารระดับแม่ทัพนายกอง ที่เรียกว่า “ลำซ่างหรือสำสร้าง”

วัดพลับบางกะจะ
แดนดินถิ่นนี้เดิมชื่อ “บ้านบางกะจะ หัวแหวน” เป็นบริเวณที่พระเจ้าตากหยุดพักทัพ สร้างพระยอดธง ก่อนทุบหม้อข้าวเข้าตีเมืองจันทบุรี เมื่อมีการเปิดตลาดย้อนยุคภายในวัดโดยคนในชุมชน จึงหยิบเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาตั้งชื่อว่า “ตลาดทุบหม้อ”

ตลาดทุบหม้อ

“ตลาดทุบหม้อ เป็นตลาดชุมชน ดั้งเดิมแม่ค้าบางส่วนเค้าขายของอยู่ในวัดเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะจะมีคนเข้ามาวัดพลับ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เป็นประจำ เราอยากสร้างจุดขายดึงคนให้เข้ามาเที่ยว เลยคิดทำตลาดย้อนยุคซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบางกะจะ ลงทุนลงแรงขุดหลุม ขึ้นโครงสร้าง มุงหลังคา เรียกว่าช่วยกันเพื่อให้ตลาดแห่งนี้เกิดขึ้นมา พ่อค้าแม่ค้าก็เป็นคนในตำบลบางกะจะ”

คุณอั้ม-วีรภัทร์ กีรติโภฌานันท์ ลูกหลานบางกะจะ รับหน้าที่ผู้จัดการตลาดทุบหม้อ เล่าต่ออีกว่า ทุกเสาร์ – อาทิตย์ พ่อค้าแม่ขายจะแต่งกายย้อนยุค พูดจาไพเราะเสนาะหู เจ้าคะ เจ้าขา ขอรับ นำของกินของฝากแสนอร่อย เน้นแบบปรุงสดใหม่ มาให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มรสมือคนบางกะจะหรือบางกะจ๊ะ ที่ไม่เป็นรองใครทั้งคาวหวาน อาหารบางอย่างหน้าตาและรสชาติเป็นเอกลักษณ์มีขายเฉพาะถิ่น

ข้าวคลุกพริกเกลือ

ติ๋งหนืด ตลาดทุบหม้อ

“ติ๋งหนืด” แค่ได้ยินชื่อก็จินตนาการตามไปว่าคงเหนียว ๆ หนืด ๆ หนึบ ๆ และเป็นเช่นนั้น เป็นเมนูกินเล่นประเภทของคาว นำสามสหายคือแป้งข้าวเจ้า แป้งท้าวยายม่อม แป้งมัน เติมน้ำคนให้เข้ากัน เทลงในกระทะก้นแบนที่มีน้ำมันร้อน ๆ คอยท่าอยู่ เพิ่มโปรตีนด้วยกุ้งสดที่ปรุงรสด้วยรากผักชี กระเทียม พริกไทย ตบท้ายด้วยพริกไทยป่นอีกนิดเติมความหอม กินร้อน ๆ หนืดนุ่มหนึบเพลินปากดีจริง ๆ

ผัดยายรั้ง

“ผัดยายลั้ง” จานอร่อยที่มีต้นกำเนิดจากคุณยายกิมลั้ง คนบางกะจะ มองเผิน ๆ เหมือนผัดซีอิ๊วแต่หาใช่ไม่ นอกจากเส้นใหญ่ ไข่ คะน้า ถั่วงอกและเครื่องชูรสต่าง ๆ ความพิเศษอยู่ที่น้ำรวนกุ้งที่ใช้ปรุงรส จานนี้กินได้แบบไม่ต้องปรุง ปัจจุบันหากได้ยินก๋วยเตี๋ยวผัดน้ำกุ้ง เจ้นั้นเจ้นี้ที่ขายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งบางคนอาจเป็นลูกหลาน ที่สืบทอดสูตรต้นตำรับมาจากยายลั้ง บางกะจะ นั่นเอง

ขนมจากกลิ่นทุเรียน ตลาดทุบหม้อ

“ขนมจากกลิ่นทุเรียน” ขนมจากธรรมดาเติมความหอมด้วยเนื้อทุเรียน ยังมีอีกของอร่อยให้เลือกชิมอีกมากมายอย่าง คอหมูย่างเนื้อนุ่ม เจ้าเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน ข้าวคลุกพริกเกลือ ห่อด้วยใบบัวร้านพี่นงค์ คนงามประจำตลาด ฯลฯ

ตลาดทุบหม้อ

“เราอยากให้นักท่องเที่ยว ได้เข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตชุมชน ไปพร้อมกับได้มากินของอร่อย เราเป็นตลาดเล็ก ๆ ที่เกิดโดยชุมชน ตอนนี้เริ่มหันมามองเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะหลังจากเป็นที่คนรู้จัก ปัญหาตามมาคือขยะพลาสติก เราเลยเริ่มเปลี่ยนแปลงบางอย่างเท่าที่ทำได้ เปลี่ยนแก้วพลาสติกเป็นแก้วกระดาษ ทำหลอดจากก้านบัวมาใช้ นำใบตองหรือภาชนะที่เป็นกระดาษใส่อาหาร ฯ ลฯ”

ตลาดทุบหม้อ
เปิด : เสาร์-อาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๙.๐๐ น. Facebook : ตลาดทุบหม้อ

artoftraveler.com