ตะวันสายโด่งแต่แมวขี้เซายังหลับไม่สนโลกอยู่ริมหน้าต่างกุฏิในวัดราชนัดดา จากท่าเรือผ่านฟ้าปลายทางเส้นทางเดินเรือคลองแสนแสบ จากบางกะปิเข้าสู่เขตเมืองเก่าของกรุงเทพ ฯ เราเดินลัดเลาะเข้ามาทางโลหะปราสาท ผ่านวัดเทพธิดารามทะลุมาซอยสำราญราษฎร์ อากาศยังไม่ร้อนเพราะฝนพรำมาทั้งคืน
มื้อเช้าตรงดิ่งเข้าไปฝากกระเพาะ จิบกาแฟที่โกปี๊ เฮี๊ยะไถ่กี่ ณ เสาชิงช้า เคยไปนั่งร้านเดียวกันนี้ที่สาขาผ่านฟ้า สอบถามว่าทำไมต้องมี ณ ต่อท้ายได้ความว่า ร้านดั้งเดิมอยู่แถววิสุทธิ์กษัตริย์ ขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ผ่านมาถึงคนรุ่นสี่ จึงปรับลุคให้เข้ากับยุคสมัย ขยายสาขาไปในย่านต่าง ๆ ใส่คำว่า “โกปี๊” ไว้ข้างหน้า “ณ” ต่อท้าย คงมีแต่ร้านเดิมที่ใช้เฮี๊ยะไถ่กี่
หาโต๊ะ หยิบเมนู สั่งอาหาร จ่ายเงิน รอเรียก เดินไปรับของ เป็นร้านที่ลูกค้าต้องบริการตัวเอง เราเลือกสั่งกาแฟดำเข้มหอมพร้อมไข่ลวก จานหลักเป็นก๋วยเตี๋ยวหลอด สมาชิกคนอื่นต่างคนคนต่างสั่งในแบบที่ชอบ เพราะเค้ามีให้เลือกชิมหลากหลาย ร้านอยู่ปาก ซ.สำราญราษฎร์ บรรจบ ถ.ศิริพงษ์ เสิร์ฟอาหารพร้อมวิวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและเสาชิงช้า
หมดมื้อเช้าชวนกันไปเดินตลาดตรอกหม้อ เปิดขายตั้งแต่เช้ามืดถึงเกือบเที่ยง ไม่คิดว่าจะมีตลาดที่ขายทั้งของสด ของแห้ง ให้คนย่านนี้จับจ่าย อยู่ใน ซ.เทศา จาก ถ.บำรุงเมือง ยาวมาถึง ถ.ราชบพิธ เดินไปนิดเดียวก็ถึงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กราบพระจากนอกกำแพงวัดเพราะด้านในน่าจะมีพิธีบางอย่าง เดิน ถ.อัษฎางค์ เลียบคลองหลอด เลี้ยวขวาผ่านแยกสะพานช้างโรงสี ตั้งใจไปศาลเจ้าพ่อครุฑที่ตรอกครุฑ ถัดจาก ถ.แพร่งสรรพศาสตร์ไปหน่อยเดียว
พี่สาวคนดูแลศาลเป็นคนใจดี บอกเราว่าชาวบ้านย่านนี้พบครุฑไม้ลอยน้ำมา เลยอันเชิญขึ้นมาแล้วตั้งศาล คนแถวนี้เคารพนับถือมาก ต่อมาถูกขโมยไปเลยร่วมกันสร้างองค์ใหม่ทดแทน ภายหลังได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อวราห์ วัดโพธิ์ทอง และลูกศิษย์มาช่วยบูรณะจนเรียบร้อยสวยงามอย่างปัจจุบัน เชื่อกันว่าพญาครุฑจะช่วยคุ้มครองภัยอันตราย ให้โชคลาภทรัยพ์สินหากใครบูชา
เรามีนัดกับเพื่อนอีกกลุ่มที่มากับอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมาทำวิจัยเกี่ยวกับศาลเกียนอันเกง ใกล้ ๆ วัดกัลยาณมิตร เลยโบกตุ๊ก ๆ มาแถว สน.พระราชวัง ลงเรือข้ามฟากตรงท่าเรืออัษฎางค์ไปฝั่งกระโน้น
“ที่นี่เพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานได้ไม่นาน ปกติเราห้ามถ่ายภาพนะครับ”
คุณบุณยนิธย์ สิมะเสถียร ผู้บริหารดูแลศาลพาเราเข้าไปชมด้านในและอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ ทั้งเล่าว่า เดิมที่นี่มีศาลเจ้าพ่อกวนอูและเจ้าพ่อโจวซือกงสร้างคู่กัน รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายเมืองหลวงทั้งสองศาลเลยถูกทิ้งร้าง เรือสำเภาของบรรพบุรุษตระกูลตันติเวชกุลและสิมะเสถียรจากมณฑลฮกเกี้ยน แล่นผ่านมาเห็นสภาพทรุดโทรม เลยรื้อแล้วสร้างขึ้นใหม่
“เกียนคือชาวฮกเกี้ยน อันคือความสงบสุข ศาสนสถานหรือตัวอาการเรียกว่าเกง ความหมายโดยรวมคือ ศาลเจ้าของชาวฮกเกี้ยน ซึ่งให้ความสงบสุขและความร่มเย็นแก่คนที่มากราบไหว้ องค์โพธิสัตว์กวนอิม องค์ประธานของศาล แกะสลักจากไม้หอมปิดทองทั้งองค์ สันนิษฐานว่าเป็นไม้จันทน์หรือไม้กฤษณา”
ผ่านประตูทางเข้าจะพบภาพท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผนังซ้ายขวาองค์โพธิสัตว์กวนอินเป็นภาพวาดเรื่องสามก๊กแบ่งเป็นช่องเป็นตอน เริ่มจากตอนสาบานในสวนดอกท้อ ไปจบที่ช่องสุดท้ายของผนังอีกฝั่งตอนโจโฉแตกทัพเรือ
จากศาลเกียนอังเกงเดินตามทางเลียบแม่น้ำ ผ่านศาลาท่าน้ำวัดซางตาครู้ส ซึ่งได้รับการซ่อมแซมเรียบร้อยหลังเสียหายจากอุบัติเหตุ เราเดินเข้าตรอกชุมชนกุฎีจีน ตั้งใจชิมไปขนมฝรั่งของคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่บ้านธนูสิงห์ ซึ่งใจดีอนุญาตให้เข้าไปดูการอบขนมถึงในบ้านได้ ปกติใครมาขอก็ให้เพียงงดถ่ายรูปเตาอบ
“เมื่อก่อนเราใช้เตาถ่านเตาฟืน ตอนหลังมันมีเรื่องควันไฟรบกวนบ้านอื่น และสร้างเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เลยคิดออกแบบเตาใหม่ใช้แก๊ส เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของเรา ฟิลลิ่งของการกินขนมอบต้องกินตอนยังอุ่น ๆ เพราะจะนุ่มกว่าตอนที่เย็นแล้ว”
กินขนมอุ่น ๆ แกล้มกาแฟร้อน แทนมื้อกลางวัน ตั้งใจว่าจะเข้าไปชมมิวเซียมบ้านกุฎีจีนด้านหน้า แต่คนเยอะมากเลยติดไว้โอกาสหน้า ลงเรือข้ามฟากกลับฝั่งพระนคร เดินทอดน่องมาจนถึงมิวเซียมสยาม ด้านหน้ามิวเซียมคือทางขึ้นลงสถานีสนามไชย ของเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายหัวลำโพง – บางแค ที่ตามกำหนดจะแล้วเสร็จในปีหน้า
เราใช้บัตร MUSE PASS SEASON ๖ ที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ทั่วประเทศรวม ๖๓ แห่ง พร้อมส่วนลดคูปองร้านค้าและกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย จำหน่ายในราคา ๒๙๙ บาท โดยเจ้าหน้าที่จะใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์ แสกนคิวอาร์โค้ดของบัตรเท่านี้ก็เรียบร้อย แต่ละแห่งใช้ได้เพียงครั้งเดียว
เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ privilege.museumsiam.org
มิวเซียมสยามจัดแสดงนิทรรศการถาวร ถอดรหัสไทย – DECODING THAINESS ขึ้นไปเริ่มชมจากชั้น ๓ ไล่ตามห้องต่าง ๆ ลงมาสิ้นสุดที่ชั้น ๒ เริ่มจากห้อง ไทยรึเปล่า จัดแสดงหุ่นอยู่กลางห้องสวมชฏา สื่อถึงปัญหาความเป็นไทย ตอนแรกอาจไม่เข้าใจ เมื่อชมรอบ ๆ ไปเรื่อย ๆ คำตอบจะถูกเฉลย
“ไทยแปลไทย” ห้องถัดไป เล่าลำดับและพัฒนาการของความเป็นไทย เกิดขึ้นตอนไหนอย่างไร ใช้อะไรเป็นตัวแทนบอกเล่าความเป็นไทย มีลิ้นชักถอดรหัสไขคำตอบ ลองเปิดดูช้า ๆ จะได้รับความกระจ่าง
“ไทยตั้งแต่เกิด” นำเสนอในรูปแบบแสงสีเสียงบนโต๊ะขนาดใหญ่ เราใช้อะไรเป็นตัวแทนความเป็นไทยกันบ้างในแต่ละยุคสมัย มีทั้งรอบภาษาไทยและภาษาอังกฤษสลับหมุนเวียนกัน เป็นห้องที่ประทับใจ โดยเฉพาะตอนจบที่อาจน้ำตารื้นได้
ทุกห้องเดินเพลินมีเรื่องราว ลงมาถึงชั้นสอง นางกวักพุงอ้วนกลมตาคมคิ้วโก่งหน้าตาน่ารัก กวักมือเรียกอยู่ในห้อง ไทย ONLY คำจำกัดความสำหรับห้องนี้คือ ไทยคิด ไทยทำ ไทยขำ ไทยบูชา เล่าเรื่องความเชื่อรอบตัว ภูมิปัญญาระดับรากหญ้า ที่จะทำให้อมยิ้มเพราะแต่ละเรื่องราวมันเกิดที่นี่ ไทยแลนด์ Only มีเฉพาะไทยเท่านั้นนิทรรศการมีทั้งหมด ๙ ห้อง แสดงเรื่องใกล้ตัวจนเรามองข้าม หรือหวลกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ความเก๋ เท่ ของคนยุคก่อน สะท้อนความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัย เกือบสามชั่วโมงจึงหมดไปแบบไม่รู้ตัว
เราตกลงกันไว้ว่าจะไปสวดมนต์ไหว้พระตอนเย็นที่วัดโพธิ์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เพราะมาที่นี่กันบ่อย ๆ แต่จะเลือกช่วงเย็นเพราะอารมณ์ต่างจากกลางวัน นักท่องเที่ยวไม่เยอะ อากาศไม่ร้อน เข้าไปกราบพระนอนในวิหารได้แบบไม่ต้องเบียดเสียด
พระอุโบสถของวัดอยู่ในช่วงบูรณะ แต่ยังใช้ประกอบสังฆกรรมตามปกติ ทุกเย็นพระสงฆ์จะลงมาทำวัตร ใครจะเข้าไปสวดมนต์ในช่วงนั้นเค้าอนุญาต นักท่องเที่ยวต่างชาติเองก็นิยมเข้ามานั่งมองอย่างสงบ พร้อมคำถามในใจที่เก็บเอาไว้คุยกันทีหลัง เพราะในพระอุโบสถงดพูดคุยกันระหว่างที่สวดมนต์ทำวัตร
สำหรับคนรักแมว ช่วงเย็น ๆ เป็นเวลาอาหารเจ้าเหมียวที่อยู่ในวัด ช่วงกลางวันจะออกไปหลบอยู่มุมใครมุมมัน แต่ช่วงดินเนอร์นี่ไม่รู้มาจากไหน เดินกันเต็มลานวัด ลองสอบถามได้ความว่า คนเอามาปล่อยหรือแมวจรอยู่จนออกลูกออกหลานมาหลายรุ่น ทางวัดก็เลยช่วยดูแลไม่ทอดทิ้ง
เราเลือกมื้อเย็นที่ร้านริมน้ำแถบท่าเตียน ที่มีให้เลือกอยู่หลายร้าน ราคาอาหารอาจสูงกว่าปกติ ถือว่าให้รางวัลกับตัวเองบ้างนาน ๆ ครั้ง สั่งรวมหารเฉลี่ยก็ทุ่นสตางค์ไปได้เยอะ นั่งมองพระอาทิตย์ตกหลังพระปรางค์วัดอรุณ … กรุงเทพฯ วันเดย์ทริป – Walking Bangkok สำหรับเรา ยังอยู่ในลิสต์อีกหลายเส้นทาง
เรื่อง/ภาพ : ธนิสร หลักชัย