ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง สวยจนต้อง “เก็บ” ไป “แซว”

เมื่อเม็ดฝนปะพรมฉ่ำผืนดินแดนอีสานใต้ เป็นสัญญาณให้ไทบ้านเมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ เตรียมออกไปเก็บ “ผลมะเกลือ” ที่ออกเต็มต้นมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำ “ผ้าไหมเก็บ” มรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวเขมรถิ่นไทยและชาวกูยสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ผ้าลายลูกแก้วศรีสะเกษ

ผ้าลายลูกแก้วศรีสะเกษ

“ผ้าไหมเก็บ” ภาษาถิ่นบ้างก็เรียกว่า “ผ้าเหยียบ” บ้างก็เรียก “ผ้าลายลูกแก้ว” ตามลวดลายที่ปรากฎบนผืนผ้า ฉลวย ชูศรีสัตยา ประธานกลุ่มผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง บอกกับเราว่า ผ้าไหมเก็บมีแหล่งกำเนิดที่บ้านเมืองหลวง พื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งฐานทัพปราบหัวเมืองในแถบอีสานใต้ ที่ว่า “เก็บ” ก็คือการเก็บลวดลายในเนื้อผ้าระหว่างทอ แล้วนำไปย้อมด้วยมะเกลือ และปักแซวด้วยไหมสีต่างๆ จนได้เป็น “เสื้ออาวเก๊บ” หรือ เสื้อผ้าไหมย้อมมะเกลือสีดำทอลายลูกแก้ว ที่ “เทอแซว” ผ่านการเย็บหรือถักลายตะเข็บ

ผ้าลายลูกแก้วศรีสะเกษ

กว่าจะเป็น “ผ้าไหมเก็บ” ต้องผ่านร้อน ผ่านน้ำ มานับไม่ถ้วน

“เลาะไปรบ็อกลือ” คือภูมิปัญญาการย้อมผ้าไหมลายลูกแก้วด้วยมะเกลือ กว่าจะได้แต่ละผืนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งกับคนทำและคนรอ(ซื้อ) เพราะผ้าไหมเก็บ ๑ ผืน ต้องผ่านกรรมวิธี “๓๐๐ จุ่ม ๖๐ แดด” หรือประมาณ ๒-๓ เดือน จนมีคำพูดขำๆ ในกลุ่มคนรอว่า ถ้าย้อมสีเข้มไม่พอ ก็ต้องรอ หมักซ้ำย้อมซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ผ้าไหมเก็บศรีสะเกษ

กระบวนการที่แสนยุ่งยากซับซ้อน ต้องเริ่มจากการเลี้ยงและสาวไหมจนได้เป็นเส้น เท่านั้นยังไม่พอ เพราะต้องลอกโปรตีนไหมหรือเซริซินอันเป็นอุปสรรคต่อการย้อมสีออกด้วยการใช้ด่างจากกาบมะพร้าว จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการทอด้วยกี่ดั้งเดิม ใช้เส้นไหมไทยพื้นบ้านเป็นเส้นพุ่ง และไหมอุตสาหกรรมเป็นเส้นยืน เหตุที่ต้องผสมกันมาจากการประยุกต์ เพราะเส้นไหมบ้านมีขี้ไหมมาก ทำให้การทอนั้นยาก

ผ้าไหมเก็บศรีสะเกษ

แต่ที่ไม่ใช้ไหมอุตสาหกรรมหมดนั่นก็เพราะต้องการส่งเสริมการเลี้ยงไหมในชุมชนและไหมบ้านมีคุณสมบัติทำให้ผ้าเงางามและนุ่มน่าสวมใส่ จากนั้น พุ่งกระสวยและเหยียบลาย ๔-๕ ตะกอ เก็บลายระหว่างการทอจนได้เป็นลายยกบนผ้าเรียกว่า “ลายลูกแก้ว” ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดเล็กอันเป็นเอกลักษณ์

ผ้าไหมเก็บศรีสะเกษ

ผ้าไหมเก็บศรีสะเกษ
ทอเป็นผืนแล้ว ก็ใช่ว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ จุดไฮไลท์อยู่ที่การย้อมมะเกลือให้ได้สีดำขลับ มะเกลือ ยังช่วยให้ผ้ามีความแน่นและทิ้งตัว ขั้นตอนเริ่มจากการตำมะเกลือและใบเล็บครุฑที่ช่วยเพิ่มความหอม นำน้ำใส่ในมะเกลือที่ตำละเอียด จัดแจงเอาผ้าทอมาขยำให้ยางมะเกลือซึมซาบเข้าไปในเนื้อผ้า จากนั้นจึงนำตากบนพื้นดิน เพื่อให้ไอดินกลิ่นแดดฉาบเนื้อผ้าให้แห้งเร็ว วิธีนี้จะช่วยย่นเวลาทำให้ตากได้ ๕-๖ ครั้งใน ๑ วัน
แม้อากาศหน้าร้อน จะร้อนจนแห้งและไม่ถูกจริตคนกรุงเท่าใดนัก แต่ไทบ้านที่นี่ชอบแดดแรง เพราะช่วยให้ผ้าดำสนิทปิ๊ดปี๋ และเมื่อตากจนแห้งแล้ว ก็ต้องนำมาย้อมเหมือนเดิมทำซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนได้ผ้าไหมสีดำธรรมชาติ

ผ้าลายลูกแก้วศรีสะเกษ

ขอ “แซว” ให้ชุ่มชื่นหัวใจ

ผ้าไหมสีดำธรรมชาติที่ผ่านร้อนผ่านน้ำมาแล้ว ๓๐๐ จุ่ม ๖๐ แดด ต้องนำมาล้างออกด้วยน้ำสะอาดจนไม่มีสีดำตกออกมา นำไปตากแดดอีกรอบ แล้วจึงตัดเย็บเป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ขั้นตอนการ “ปักแซว”

“แซวหนุ่มหนะง่าย แซวผ้ายากกว่าเยอะ” ผู้สาวไทบ้านที่กำลังนั่งปักแซว พูดแซวด้วยความขำขัน แต่เห็นว่าจะจริงตามคำว่า …

ผ้าลายลูกแก้วศรีสะเกษ
การปักแซว เป็นภูมิปัญญาการนำเส้นไหมที่ควั่นเข้าด้วยกัน นำมาแซวตะเข็บหรือชายเสื้อด้วยมือเป็นลวดลายบนผืนผ้าซึ่งมีทั้งลวดลายโบราณและประยุกต์ เนื่องด้วยเพราะสมัยก่อนไม่มีจักรเย็บผ้า ไทบ้านจึงต้องเย็บเพื่อให้ตะเข็บผ้าติดกัน ทั้งยังไม่มีกรรไกรไว้ใช้ตัดผ้า จึงต้องตัดผ้าด้วยมีดโต้และเย็บตะเข็บผ้ากันรุ่ย ไหนๆ ก็เย็บแล้ว จึงเพิ่มลวดลายเข้าไปด้วยเพื่อความสวยงาม โดยลวดลายบนผืนผ้าจะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ความเชื่อ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และธรรมชาติรอบตัว เช่น ลายตีนตะขาบ ตีนไก่ หางตะกวด ดอกมะเขือ เป็นต้น

ผ้าไหมเก็บศรีสะเกษ
ด้ายไหมที่นำมาปักแซวนั้น จะต้องผ่านการควั่นให้เป็นเกลียว เพื่อให้ด้ายไหมมีลวดลายในตัว ๑๐ เส้นไหม จะควั่นได้ ๑ เส้นแซว และนิยมใช้ ๓ สีในการแซว คือ แดง ขาว เหลือง การปักแซวทำได้ทั้งรอบคอเสื้อ รอยผ่าข้าง ชายเสื้อ ตะเข็บ หรือกลางตัวเสื้อ ยิ่งลวดลายมากยิ่งแสดงให้เห็นถึงฝีมือของผู้ปักแซวไปในตัว

ผ้าไหมเก็บศรีสะเกษ

รักแล้วต้องรอหน่อย

ปัจจุบันเสื้อแซวมีการตัดเย็บใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งไทบ้านและผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษรวมทั้งกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ เพราะใส่แล้วดูดี ยิ่งแซวมากยิ่งงามหลาย ผู้สวมใส่จึงนิยมใส่ในโอกาสงานสำคัญ งานประเพณีประจำปี และมีการเย็บขายเป็นสินค้าหัตถกรรมของชุมชน จนมีการดัดแปลง แปรรูปเป็นกระเป๋า หรือพวงกุญแจ สร้างทางเลือกให้ผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น

ผ้าลายลูกแก้วศรีสะเกษ
ด้วยความซับซ้อน ประณีต และใช้ระยะเวลานานจึงทำให้เสื้อแซวไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่คนส่วนใหญ่ก็ยินดีและเต็มใจที่จะรอ เพราะเห็นถึงคุณค่างานทำมือทุกขั้นตอน ราคาของเสื้อแซวตอนนี้เริ่มต้นที่สามพันบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปักแซว ยิ่งปักมาก ปักละเอียด ก็ยิ่งมีราคาสูง … แต่ราคาที่ว่าสูงนั้น ก็คุ้มค่าเมื่อเห็นถึงขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากและเปี่ยมไปด้วยแรงกายแรงใจของผู้ทำในทุกเส้นไหมและรอยเข็ม

เสื้อลายลูกแก้วศรีสะเกษ

ตอนนี้ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวงอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้มีไว้สำหรับสวมใส่เท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงมรดกวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การสืบสานต่อไป

เรื่อง/ภาพ อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล

artoftraveler.com