“ส่างลอง เปรียบเหมือนเจ้าชายน้อย ๆ องค์หนึ่ง ที่เราต้องดูแลเค้าอย่างดีตั้งแต่ตื่นจนหลับ จนกว่าจะบรรพชาห่มผ้าเหลืองเป็นสามเณร ชาวไทใหญ่เราจะให้ความสำคัญกับงานนี้มาก เพราะถือเป็นบุญใหญ่ เป็นมหากุศลแก่ชีวิต”
คำบอกเล่าของ กระแส นิยมรัตน์ หนึ่งในปราชญ์ชาวบ้านผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนชาวไตหรือไทใหญ่ที่ยังคงสืบรักษาประเพณีปอยส่างลอง อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไว้อย่างเข้มแข็ง
บรรพบุรุษของพวกเค้าย้ายถิ่นฐานจากฝั่งพม่าข้ามมาแผ่นดินไทย กระจายกลุ่มก่อตั้งชุมชนตามย่านต่าง ๆ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาร่วมสองร้อยปี เป็นกลุ่มคนที่เลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ปอยส่างลองเดือนเมษายน เป็นหนึ่งในประเพณี ๑๒ เดือน นอกเหนือไปจากงานถวายสลากภัตรในเดือนกันยายน จองพาราช่วงออกพรรษาเดือนตุลาคม ฯลฯ ที่เรารู้จักกันดี
“ปอย” แปลว่า “งาน” ส่วน“ส่าง” กร่อนเสียงมาจาก “สางหรือขุนสาง” ซึ่งหมายถึงพระพรหม อีกนัยหนึ่งคือ “เจ้าสาง” หรือสามเณร ส่วน “ลองหรืออลอง” นั้นหมายถึงพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธางกูร
ปอยส่างลองไม่ปรากฏที่มาที่ไปแน่ชัด เป็นความเชื่อซึ่งหยิบยกมาจากวรรณกรรมไทใหญ่หลายเรื่อง ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกับพุทธประวัติในต่างบริบท ส่างลองจึงถูกสมมติให้เป็นเจ้าชายในวรรณะกษัตริย์ ผู้มากด้วยบริวารและโภคทรัพย์ ก่อนสละทุกอย่างออกค้นหาอริยทรัพย์ทางธรรม การจัดงานจึงยิ่งใหญ่อลังการใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก ทั้งเชื่อว่าผลบุญจะหนุนนำให้เสวยสุขเป็นเทวดาบนสวรรค์นาน ๘ กัลป์ จึงไม่แปลกที่พ่อแม่จะเตรียมเก็บหอมรอมริบไว้ตั้งแต่ให้กำเนิดบุตรชาย
“สมัยก่อนจัดหลายวันขึ้นอยู่กับฐานะเจ้าภาพ แต่หัวใจของงานมีแค่ ๓ วันคือ วันฮับส่างลอง วันแห่โควหลู่หรือเครื่องไทยธรรม และวันขามส่างหรือวันบรรพชา หากเจ้าภาพบอกงานบุญอื่น เราอาจเลี่ยงไม่ไปถ้ามีความจำเป็น แต่ถ้าปอยส่างลอง ไม่ว่าลำบากยังไงก็ต้องไปให้ได้ เพราะเราเชื่อว่าแค่มาร่วมงานก็ถือว่าได้บุญมากเช่นกัน”
เด็กที่จะมาเป็นส่างลองต้องฝึกฝนท่องจำคำขอบรรพชา บทให้ศีลให้พรกับเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายจนขึ้นใจ สมัยก่อนกำหนดอายุเริ่มต้นที่ ๑๐ ปี น้อยกว่านั้นถือว่ายังเด็ก รับผิดชอบตัวเองไม่ได้และตัวเล็กเกินไป แต่เด็กสมัยนี้รูปร่างสูงใหญ่กว่าเมื่อก่อนและเรียนรู้เร็ว จึงอะลุ้มอล่วยลดอายุลงมาเป็น ๙ ปี เด็กจะขออนุญาตพ่อแม่เพื่อขอบวช โกนหัวแต่ไม่โกนคิ้ว ในตอนเย็นก่อนวันขามส่าง
เช้ามืดถัดมาใน “วันขามส่าง” เด็กจะถูกอาบน้ำซึ่งแช่ด้วยเงิน ทอง อัญมณีต่าง ๆ เครื่องหอม ส้มป่อย ฯลฯ เรียกว่าอาบน้ำเงินน้ำทอง ปะแป้งแต่งหน้า ใส่ชุดที่ตัดเย็บอย่างประณีต ศีรษะสวมหมวกส่างลองที่ประดับด้วยดอกไม้หลากสี กลายเป็นอลองอย่างสมบูรณ์
“หมวกส่างลองถือเป็นของสำคัญ ประเพณีดั้งเดิม ผู้หญิงที่ไม่สามารถบวชได้ เค้าจะไว้ผมยาวบำรุงรักษาให้สวยงาม ตัดแล้วห่อเก็บไว้อย่างดี เพื่อเอามาถักม้วนเป็นจ้องหรือมวยผม ประดับบนหมวกส่างลองแซมด้วยดอกกล้วยไม้สด โดยเฉพาะเอื้องคำที่จะออกดอกในช่วงนี้พอดี มีความหมายเป็นมงคล เพราะคำในภาษาไทใหญ่แปลว่าทอง”
โสภิณ แก่นตัน ปราชญ์ชาวบ้านอีกคนเล่าให้เราฟัง พร้อมทั้งบอกอีกว่า สมัยก่อนแม่หรือญาติจะเป็นคนตัดเย็บชุดและแต่งหน้าให้ โดยทาแป้งแต้มทานาคาเป็นลวดลายที่เห็นว่าสวยงาม แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่มักลงทุนจ้างช่างตัดและช่างแต่งหน้าอาชีพ เพราะสะดวกบ่งบอกฐานะได้อย่างชัดเจน รวมถึงหมวกส่างลองที่ใช้แบบสำเร็จปักดอกไม้กระดาษ แต่ยังคงสวมเครื่องประดับอย่าง สร้อย แหวน กำไลมือ บางคนอาจมีแค๊บคอ ที่ใช้ทองคำตีเป็นแผ่นกลม ๆ ดุนลวดลาย ส่างลองที่แต่งตัวเรียบร้อยจะขอศีลและขอขมาพระสงฆ์ จากนั้นจะถูกแห่ไปบอกกล่าวต่อศาลเจ้าเมืองหรือศาลหลักเมืองประจำหมู่บ้าน มีทีคำหรือร่มทองกางบังแดดตลอดทาง ช่วงบ่ายจะแห่ส่างลองไปเยี่ยมญาติพี่น้องหรือผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเคารพนับถือ ซึ่งเจ้าของบ้านถือว่าเป็นเกียรติและสิริมงคลอย่างยิ่ง
วันถัดมาเป็น “วันแห่โควหลู่” หรือเครื่องไทยธรรม หัวขบวนเป็นม้าเจ้าเมืองที่คัดเลือกม้าลักษณะดี เพื่ออันเชิญเจ้าเมืองขึ้นมาประทับบนหลังม้าตามความเชื่อ ปีนี้บ้านผาบ่องตั้งขบวนที่วัดผาบ่องใต้ แห่ไปสิ้นสุดที่วัดผาบ่องเหนือ เสียงจีเจ่หรือกังสดาลใหญ่ดังกังวานเป็นระยะ เมื่อชาวบ้านได้ยินจะออกมาร่วมอนุโมทนาบุญโดยการโปรยข้าวตอกดอกไม้ด้วยใบหน้าอิ่มสุข ปิดท้ายด้วยบรรดาส่างลองพร้อมตะแปที่โยกย้ายร่ายรำอย่างครึกครื้นจากเสียงฆ้องและกลองมองเซิง
วันนี้ยังมีขั้นตอนสำคัญคือพิธีกิ๋นผัก ๑๒ หมี่ ส่างลางจะถูกป้อนด้วยอาหาร ๑๒ อย่าง แฝงความหมายในทางดีคือ ถั่วพูอบ (ช่วยพยุง ลอย/ฟู) น้ำพริกอ่อง (ทำอะไรก็สำเร็จ) ฮังเล (อาหารที่ขาดไม่ได้ในทุกงานบุญ เปรียบเหมือนพระเอกในสำรับอาหารของชาวไทใหญ่) ไข่อุ๊บ (ช่วยให้ทุกอย่างง่ายเหมือนปลอกไข่เข้าปาก) แกงขนุน (เชิดชูหรือหนุนนำให้สูงขึ้น) เนื้อลุง (เพิ่มบริวาร) ปลาทอด (เพิ่มปัญญา) ลาบ (เพิ่มโชคลาภ) แกงผักกุ่ม (ทำอะไรมีพร้อมทุกอย่าง) และอาหารประกอบอีก ๓ อย่างคือ ไก่ทอด หมูทอด ต้มจืด
วันสุดท้ายเป็นวันขามส่างหรือวันบรรพชา บางบ้านอาจมีวันอ่องป่อยหรือวันฉลองส่างลองอีกเป็นวันที่สี่ แต่มักจะจัดเฉพาะในหมู่ญาติ ก่อนบรรพชาเป็นสามเณร ส่างลองจะถูกปฏิบัติดุจหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ เท้าห้ามสัมผัสพื้นดิน ไปไหนมาไหนจะขี่คอ “ตะแป” หรือพี่เลี้ยง ซึ่งมักมีไม่ต่ำกว่าสองคน ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ บางบ้านที่บริวารเยอะอาจมีตะแปนับสิบคน จะมี “ตะแปใหญ่” หนึ่งคนเป็นหัวหน้าดูแลความเรียบร้อยและทรัพย์สินของมีค่า มักเป็นบุคคลซึ่งเจ้าภาพไว้ใจมากที่สุด ตะแปมีหน้าที่ดูแลทุกอย่างตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็ว่าได้ เพราะมีความเชื่อว่าผีสางนางไม้จะนำเทวดาองค์น้อยไปซ่อน ต้องไปบนบานที่ศาลเจ้าเมืองเพื่อขอให้ท่านช่วย บางชุมชนจึงมีการละเล่นโดยแอบมาขโมยส่างลองตอนตะแปเผลอ เจ้าภาพต้องนำรางวัลหรืออะซู ไปไถ่ตัวกลับคืนมา
ส่างลองจะให้ความนับถือตะแปว่าเป็นผู้มีพระคุณที่เคยดูแลกันมา แม้หลังสึกแล้วก็ยังไปมาหาสู่อยู่ไม่ขาด คนที่มีฐานะหากไม่มีลูกชาย ยังมีโอกาสได้เป็น “พ่อข่าม” หรือ “แม่ข่าม” ให้กับครอบครัวที่ขาดทุนทรัพย์พอจะบวชส่างลอง โดยเป็นเจ้าภาพผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เปรียบเหมือนพ่อแม่อีกคน แม้เป็นประเพณีที่ดูสิ้นเปลือง หากคิดในมุมบวกถือเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษ ที่ใช้ปอยส่างลองเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธ์ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในชุมชน ให้หันมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความเต็มใจ
“ไทใหญ่เราจะให้ความสำคัญกับปอยส่างลองมากกว่าการบวชพระหรือจางลอง เพราะถือว่าเด็กยังบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ไม่มีมลทินติดตัว ไม่นิยมบวชหลายครั้งเพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กไม่ฉลาด แต่ทั้งสองคือสิ่งที่แสดงออกถึงการทดแทนพระคุณพ่อค่าน้ำนมแม่ โดยเปรียบส่างลองคือการตอบแทนค่าน้ำนมข้างซ้าย จางลองตอบแทนค่าน้ำนมข้างขวา”
เรื่อง/ภาพ ธนิสร หลักชัย