เพลินพุง เพลินใจ ไปกับเรื่องราวในจานอาหารบนเกาะหมาก

kohmak

ส่วนผสมของแนวคิด วิถีชีวิต ธรรมชาติ ที่กลมกล่อมงดงาม

ย่านความเร็วของสปีดโบ๊ตลำใหญ่ ช่วยย่นเวลาการเดินทางจากท่าเรือกรมหลวง อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ข้ามน้ำข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือ “เกาะหมาก รีสอร์ต” หน้าอ่าวสวนใหญ่ ด้วยเวลาประมาณ ๔๕ นาที แต่ก็แลกกับค่าเดินทางที่แพงกว่าเรือโดยสารปกติ เหมือนจ่ายเงินซื้อเวลาเพื่อเพิ่มเวลาการมาพักผ่อน บนเกาะที่มีแนวคิดการใช้ชีวิต ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวแตกต่างไปจากเกาะอื่น ๆ ในกระแสคลื่นลมทะเลตะวันออก โดยหยิบชูโมเดล Low Carbon-สังคมคาร์บอนต่ำและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการ หรือธรรมนูญเกาะหมาก ๘ ข้อ อาทิ ไม่สนับสนุนกีฬาทางบกและทางทะเลที่ใช้เครื่องยนต์ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน ไม่สนับสนุนให้เรือเฟอร์รี่นำยานพาหนะของนักท่องเที่ยวข้ามมายังเกาะหมาก

สัมผัสแรกเมื่อก้าวขึ้นฝั่งจึงไม่รู้สึกถึงความพลุกพล่าน ที่พักแต่ละแห่งจะจัดรถมารับลูกค้าเข้าเช็คอิน หรือจะเลือกใช้บริการรถสองแถวก็ตามสะดวก สำหรับคนที่ต้องการเที่ยวรอบเกาะทางบก มีร้านให้เช่าจักรยาน-มอเตอร์ไซค์อยู่หลายแห่ง บางรีสอร์ตอาจมีสองล้อให้ยืมปั่นฟรี เส้นทางบนเกาะเป็นทางราบสลับเนินชันเป็นระยะ ผ่านสวนยาง สวนผลไม้ บ้านเรือน จดย่านริมหาดที่เปรียบเหมือนดาวน์ทาวน์ของเกาะ มีที่พัก ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อของชาวบ้าน ที่มองเข้าไปในตู้แช่เย็น เห็นชีสนำเข้าจากต่างประเทศวางจำหน่าย คงเป็นเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาพักผ่อน บางคนหรือบางครอบครัวมาทุกปี ปิดท้ายวันด้วยการเปลือยเท้าย่ำทราย หย่อนก้นนั่งมองพระอาทิตย์ตก เป็นส่วนผสมของแนวคิด วิถีชีวิต และธรรมชาติที่กลมกล่อมงดงาม

รสมือแห่งรัก(ษ์) อิ่มท้องแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและร่างกาย

ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมีที่มีสารตกค้างสูง หนึ่งใน ๘ ข้อ ของธรรมนูญเกาะหมาก คุณดวง- ประจิตรา ประชุมแพทย์ และ คุณเล้ง- วริศรา อริยวงศ์ปรีชา สองสาวรักษ์โลก รักสุขภาพ มองเห็นคุณค่าความมั่นคงทางอาหาร ถอดสมการข้อนี้ออกมาเป็น “Koh Mak Farm Organic & Restaurant” ฟาร์มและร้านอาหารเล็ก ๆ ที่ผลผลิตทุกสายพันธุ์ทั้งผัก ผลไม้ ดอกไม้ สามารถเด็ดกินสดได้อย่างปลอดภัย เพราะเป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี

กัลยาณมิตรที่เกื้อกูลกันในการดำเนินชีวิต หนึ่งคนเคยคลุกคลีกับแนวคิดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้น อีกหนึ่งผ่านงานด้านสิ่งแวดล้อม รักการเดินทางจนพาตัวเองมาใช้ชีวิตอยู่บนเกาะหมาก หอบหิ้วความสามารถด้านการทำอาหารที่มีติดตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่นี่จึงเป็นทั้งสวนผัก ผลไม้ โรงเรียนสอนทำอาหาร ร้านอาหารที่เข้าใจวิถีชุมชนในบรรยากาศอบอุ่นและเป็นกันเอง

“บริเวณนี้เคยเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ในลักษณะฟาร์มสเตย์ชื่อ Wild Heart Farm แต่เจ้าของเดิมอยากให้เราสองคนเข้ามาปรับปรุง เราก็มาออกแบบแลนด์สเคปใหม่ บำรุงสภาพดินเพื่อให้เหมาะกับการเพาะปลูกในแบบเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก ให้ธรรมชาติเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ใช้ปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยมูลไส้เดือน และนำเศษอาหารจากเกาะหมาก รีสอร์ต รวมถึงรีสอร์ตอื่น ๆ มาทำปุ๋ย ตอนนี้กำลังมีโครงการเลี้ยงแมลงวันลาย เพราะมูลของแมลงวันลายมีคุณสมบัติเหมือนมูลไส้เดือน”

คุณเล้งเล่าต่ออีกว่า แมลงวันลายจะมีนิสัยนักเลงหน่อยๆ ทำหน้าที่ช่วยไล่แมลงวันบ้าน และแมลงวันทองซึ่งเป็นศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ปกติจะพบอยู่ทั่วไปแต่เมื่อเกษตรกรใช้สารเคมีมากเข้าพวกเขาก็จะหายไป อาหารของแมลงวันลายคือ ผัก ผลไม้เน่า ไม่ตอมสิ่งสกปรกอื่น ๆ จึงเหมาะกับสิ่งที่ทำอยู่ ที่นี่เปิดรับนักท่องเที่ยว เข้ามาร่วมกิจกรรมชมสวน ปลูกผักในกระถางเล็ก ๆ ให้นำกลับไปดูแลต่อ เฝ้ามองดูการเจริญเติบโตทีละน้อย เป็นการบ่มเพาะความรู้สึกอยากที่จะหันมาลองปลูกผักในกระถางชนิดอื่นเองที่บ้าน

“ผลผลิตในสวน จะถูกส่งเข้าไปเป็นวัตถุดิบหลักที่เกาะหมาก รีสอร์ต ส่วนใครอยากชิมอาหาร สามารถ Walk in เข้ามาและสั่งรับประทานได้เลย แต่ถ้าจะให้สะดวกรวดเร็ว แนะนำให้แจ้งจำนวนคนและเวลาเข้ามาก่อนล่วงหน้า เรายังมีกิจกรรม Farm to table ชมสวน ปลูกผัก ทำอาหาร โดยรับเป็นกรุ๊ป กรุ๊ปละไม่เกิน ๒๕ คน”

อาหารมื้อกลางวันทยอยมาเสิร์ฟบนโต๊ะ แต่ละเมนูหน้าตาชวนกินอย่าง บันจั๊ง (ปอเปี๊ยะเวียดนาม) เมนูกินเล่นที่เน้นไส้ผักออร์แกนิกจากฟาร์ม น้ำพริกกะปิกินคู่กับปลากระบอกทอด แกล้มผักสดและดอกพวงชมพู

“หลายคนไม่รู้ว่าดอกไม้กินสดได้ บางคนที่ไม่ชอบกินผักเพราะขม อยากให้ลองมากินดอกไม้แทน อย่างพวงชมพู รสจะออกเปรี้ยว กุหลาบก็อร่อยแต่ที่นี่ปลูกไม่ค่อยงามเพราะอากาศร้อนชื้น เกสรดอกไม้ก็กินได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงเพราะบางคนอาจแพ้เกสรดอกไม้โดยที่ยังไม่รู้ตัว ให้สังเกตง่าย ๆ เป็นเบื้องต้น คนไหนที่แพ้น้ำผึ้งก็มักจะแพ้เกสรดอกไม้ด้วย”

คงต้องใช้คำว่า … เพลินพุง เพลินใจ Koh Mak Farm Organic & Restaurant คือแหล่งเรียนรู้ที่ยินดีต้อนรับทุกคน อยากรู้อะไรถามได้ เกษตรอินทรีย์นอกจากปลอดภัยต่อร่างกาย ยังช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังเป็นการดูแลคุณภาพดิน น้ำ และอยู่ในกรอบของธรรมนูญเกาะหมากอีกด้วย

Koh Mak Farm Organic & Restaurant
โทร. ๐๙ ๗๙๔๖ ๒๖๔๑
Facebook : Koh Mak Farm Organic & Restaurant

ชิมเมนูจุมโพ่ ซาชิมิปลาย่ำสวาท
ที่ “เกาะหมากซีฟู้ด”

เกาะหมากซีฟู้ด หนึ่งในร้านอาหารที่ใครไปเที่ยวต้องหาโอกาสไปชิมสักมื้อ ร้านอยู่อ่าวนิดใกล้กับท่าเรือ ไม่เพียงรสชาติเพลินปากจนลืมอิ่ม แต่คุณเอก- ธานินทร์ สุทธิธนกูล ยังนำแนวคิด Low Carbon เข้ามาบริหารจัดการ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงเศษอาหารเหลือทิ้ง

“เราเคยศึกษาเรื่องหนึ่งร่วมกันคือ แคชโฟลว์ (Cash Flow) หัวใจหลักของการเปิดร้านและทำธุรกิจ ว่าเงินที่เข้า-ออก มาจากไหน ไปไหน จะอุดรูรั่วนั้นอย่างไร จนพบว่าเมื่อก่อนเราสั่งวัตถุดิบจากบนฝั่ง ใส่สองแถวจากตลาดมาท่าเรือ ขนลงเรือไม้เดินทางมาเกาะอีก ๓ ชั่วโมง ความสดมันหายไปแล้ว คนบ้านเราเอาอาหารทะเลข้ามทะเลไปขายในเมือง เราก็ตามไปซื้อกลับมา นักท่องเที่ยวเอาเงินมาไว้ที่นี่เราดันโอนมันกลับไปในเมืองอีก ในขั้นตอนการขนส่งยังปลดปล่อยคาร์บอน ๑๐๐% ตั้งแต่นั้นมาเราก็มีการพูดคุยและติดต่อซื้อจากชาวประมงรอบ ๆ เกาะโดยตรง เริ่มลงมือปลูกผักเองโดยไม่ใช้สารเคมี มันเกิดข้อดีที่เห็นชัดเลยคือ ลดคาร์บอน ลดต้นทุนการขนส่งทั้งเราและชาวบ้าน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่าย”

ต้นตระกูลของคุณเอก คือหนึ่งใน ๕ ตระกูลเก่าแก่ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเกาะกง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเกิดข้อพิพาทกับฝรั่งเศส จนต้องยอมเสียดินแดนส่วนหนึ่งเพื่อแลกกับการได้คืนพื้นที่จันทบุรีและตราด ความทรงจำอันงดงามของบรรพบุรุษถูกรวบรวมไว้ใน “พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก” บริเวณด้านหน้าทางเข้าร้าน รวมถึงยังเก็บบันทึกวิถีการกินแบบชาวเรือ มาบรรจุในเมนูอาหารที่เรียกว่า เมนูจุมโพ่

จุมโพ่ … เป็นชื่อที่ใช้เรียกพ่อครัวบนเรือ สันนิษฐานว่าน่าจะได้อิทธิพลมาจากชาวฮกเกี้ยน ที่เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ โล้สำเภาเข้ามาค้าขายกับสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา หลายคนมีโอกาสเข้าไปรับใช้ในราชสำนัก จนได้รับตำแหน่งขุนนาง คำเรียกหลายคำจึงมีรากมาจากภาษาฮกเกี้ยนอย่าง ไต้กง – กัปตันหรือนายเรือ, จุมโพ่-พ่อครัว แม้แต่ตำแหน่งพ่อครัวหรือสหโภชน์ของทหารเรือ ก็เรียกว่าจุมโพ่เช่นเดียวกัน

“แกงส้ม ต้มปู ทอดปลาลิ้นหมา ก๊ะปลาน้ำดำ กินกับน้ำพริกเกลือ” อาหารประจำบนเรือประมงย่านเกาะหมากที่คุณเอกจำความได้ แต่เมื่อนำมาใส่ในเมนูที่ร้าน จำเป็นต้องปรับวิธีการปรุงให้เหมาะสม

“เมนูจุมโพ่ คือความสามารถของพ่อครัวในการหยิบเอาวัตถุดิบเท่าที่มีในเรือมาปรุงอาหาร หัวใจหลักคือ วัตถุดิบต้องสด อย่างหมึกน้ำดำตำรับจุมโพ่แท้ ๆ เขาจะใช้หม้อตักน้ำทะเลข้างเรือ ตั้งเตารอจนน้ำเดือดแล้วหย่อนหมึกเป็น ๆ ที่หามาได้ลงไป หมึกจะพ่นน้ำดำออกมา ปิดเตาแล้วกินแบบนั้นโดยไม่ปรุงอะไรทั้งสิ้น แต่แปลกมากน้ำทะเลในหม้อรสจะมีความหวานโดยธรรมชาติ จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ถ้าลงเรือไปด้วย เวลาทำเมนูนี้ไต้กงจะบอกเราอย่ามอง แต่ก็มองไม่ค่อยเห็นหรอกเพราะมักจะทำตอนกลางคืน ไดหมึกได้ก็ทำสด ๆ เดี๋ยวนั้นเลย ถ้ากินแบบต้นตำรับเป๊ะ ๆ น้ำจะข้นมาก หน้าตามันจะดูขี้เหร่ดำเปรอะ คนทั่วไปอาจกินไม่ได้”

หมึกนำดำที่ปรุงเสิร์ฟในร้าน จะต้องดึงปากหมึกลักษณะกลมและคมมากตรงหนวดออก ใช้ด้ามช้อนควักเครื่องในที่ต้องระวังไม่ให้ถุงน้ำหมึกแตก หมึก ๑๐ ตัว จะใช้ถุงน้ำหมึกแค่ ๑ ถุง มากกว่านั้นจะกินไม่ได้ โดยจะทำให้สุกเพราะกลัวลูกค้ากินแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

คนตราดและคนภาคตะวันออก จะชูรสอาหารด้วย “พริกเกลือ” หน้าตาเหมือนน้ำจิ้มซีฟู้ด แต่ใช้เกลือแทนน้ำปลาเลยเรียกว่า “พริกเกลือ” ใช้คลุกข้าวหรือเป็นเครื่องจิ้มอาหารทะเล โดยเฉพาะปลาอินทรีย์กับปลาอีโต้มอญ ที่แล่เป็นชิ้นบาง ๆ เช่นเดียวกับซาชิมิ ชาวประมงแถบเกาะหมากก็นิยมกินปลาดิบเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ละเมียดละไมเหมือนวัฒนธรรมการกินของคนญี่ปุ่น ส่วนปลาอีกสายพันธุ์ที่มีชื่อว่า “ปลาย่ำสวาท” คนแถบนี้แทบไม่ค่อยมีโอกาสได้ลิ้มรส

“ปลาย่ำสวาท คือปลากะรังจุดฟ้า หรือปลากุดสลาด ไม่ใช่หากินได้ง่าย ๆ เพราะชาวบ้านที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ในกระชัง เขาจะส่งขายต่างประเทศอย่างเดียว ตลาดหลักคือจีนกับฮ่องกง ราคาส่งออกกิโลกรัมละประมาณ ๓,๐๐๐ บาท เมื่อเดินทางไปถึงที่โน่นได้ยินว่าขายที่ ๕,๐๐๐ บาท โดยจะส่งออกแบบปลาเป็น น้ำหนักประมาณตัวละ ๕-๖ ขีด เหตุผลก็คือ เขาเผื่อไว้ในกรณีที่ลูกค้ามากินกันแค่คนเดียวหรือ ๒ คน ถ้าปลาตัวใหญ่ราคาก็จะสูงเกินไปทำให้ขายยาก มีความเชื่อว่ากินแล้วช่วยเพิ่มพลังเลยเรียกว่า ปลาย่ำสวาท เท็จจริงอย่างไรไม่รู้ ของร้านเราจะทำเป็นปลาดิบและนำส่วนหัวมาต้มยำน้ำใส ถ้าต้องการชิมอาจจะต้องโทรมาสอบถามก่อน อย่างที่บอกว่าไว้ ไม่ใช่หากินได้ง่าย ๆ”

เกาะหมากซีฟู้ด มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในร้าน ที่ค่อนข้างจริงจังเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ เริ่มจากแยกบนโต๊ะก่อนจะลงรถเข็น ผ่านเข้าไปหลังร้านพนักงานจะแยกอีกครั้ง แล้วตอนเช้าจะมีพนักงานอีกคนมาแยกครั้งสุดท้าย

โดยเฉพาะอาหารที่เป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยง เศษอาหารอื่น ๆ ทางร้านจะแบ่งส่วนหนึ่งสำหรับไปใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ ที่คุณเอกเรียกโครงการนี้ว่า Eat it fresh โดยปลูกผักและมะพร้าวน้ำหอมสำหรับทำไอศกรีมกะทิไว้ ปัจจุบันได้แค่ ๕% ของความต้องการ แต่กำลังค่อย ๆ ขยับขยายไปเรื่อย ๆ ในอนาคต … รสชาติและความอร่อยบนจานอาหารของเกาะนี้ มีเรื่องราวและแนวคิดดี ๆ ซ่อนอยู่

Koh Mak Seafood
โทร. ๐๙ ๐๙๗๖ ๔๐๓๑
Facebook : Koh Mak Seafood

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด
โทร. ๐ ๓๙๕๙ ๗๒๕๙
Facebook : ททท.สำนักงานตราด