มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า … ที่นี่เป็นชุมชนลาวเวียงที่อพยพย้านถิ่นมาจากเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยใช้บริเวณที่แม่น้ำน่านและคลองตรอนไหลมาบรรจบกัน ในเขต อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ก่อตั้งเป็นชุมชนพักอาศัยและทำมาหากิน เลยเรียกชื่อตามสภาพภูมิประเทศตรงนั้นว่า “บ้านหาดสองแคว”
ป้าสนิท ดีเพ็ชร ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว เล่าถึงปูมหลังของหมู่บ้านพอสังเขป เป็นความตั้งใจที่จะถ่ายทอดให้แขกผู้มาเยือนรับฟังและรู้จักหมู่บ้านนี้บ้าง มากกว่าจะมาแวะพักแล้วก็จากไป… เสียงตะหลิว กระทะ ครกสากกระทบกัน ปะปนกับเสียงแม่พูดคุยสั่งการแบบสำเนียงท้องถิ่น ในครัวท่าทางคงจะยุ่ง ไม่นานกลิ่นหอมๆ เริ่มโชยมาแตะจมูก สมาธิในการรับฟังเริ่มกระเจิดกระเจิง
“อาหารที่ทำให้นักท่องเที่ยว ก็เป็นแบบเดียวกับที่พวกเรากินเป็นประจำ ไม่ได้คิดปรุงแต่งเมนูขึ้นมาใหม่ ใครได้ชิมรับรองติดใจทุกคน แต่ถ้าท่านใดอยากสั่งอาหารพิเศษ หรือกินอาหารพื้นบ้านไม่ได้ สามารถแจ้งก่อนได้ ทางเราจะได้เตรียมไว้ล่วงหน้า”
เมนูท้องถิ่นอย่าง “น้ำพริกปลาร้า” ทานคู่กับผักลวก ไข่เจียว ไข่ต้ม อาหารคู่ครัวที่ทุกบ้านต้องมี หรือจะเป็นอาหารตามความเชื่ออย่าง “แกงหยวก” ที่เชื่อว่าหยวกกล้วยมีเยื่อใยมาก กินแล้วจะกลับมาเยี่ยมเยือนที่นี่อีก “อั่วบักเผ็ด” หรือ “พริกยัดไส้” ปรุงจากหมูสับผสมข้าวโพดคลุกเคล้าเครื่องเทศ ยัดเข้าไปในพริกเขียวเม็ดโตที่ควักไส้ออกแล้ว มื้อเย็นที่บ้านหาดสองแคว อร่อยจนวางช้อนไม่ลง
โฮมสเตย์ 20 หลัง พอเพียงสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว แต่ละหลังมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน หากมากันกลุ่มใหญ่คงต้องกระจายกันนอน เป็นโฮมสเตย์ที่นอนพักร่วมบ้านกับชาวบ้านจริงๆ กับคอนเซ็ปต์ “กินอิ่ม นอนอุ่น” ทุกหลังสะอาดสะอ้าน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน… หลังอิ่มท้องก็จัดแจงอาบน้ำผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ออกมานั่งคุยกับป้าสนิท บรรยากาศที่นี่เงียบสงบจนได้ยินเสียงคุยจากบ้านหลังอื่น ซึ่งคิดว่าหลังอื่นคงได้ยินเสียงพวกเราคุยเช่นกัน
ชาวบ้านยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน แบบเรียบง่าย ความรักและสามัคคีเรียกได้ว่าเหนียวหนึบ เป็นชุมชนเข้มแข็ง ร่วมมือร่วมแรงช่วยเหลือกัน สังเกตุได้จากถนนในหมู่บ้านที่สะอาดตาไร้ขยะ เพราะทุกบ้านจะคัดแยกเพื่อนำไปขายที่ธนาคารขยะ กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งโครงการปุ๋ยหมักชีวภาพ โครงการจักรยานสานฝัน ฯลฯ ทั้งยังปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับเยาวชนในหมู่บ้าน รักษาสืบทอดขนบประเพณีของบรรพบุรุษไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะ “ประเพณีตักบาตรหาบจังหัน” วิถีพุทธแบบลาวเวียง ซึ่งแทบจะมีให้เห็นน้อยมาก
เช้านี้เราตื่นมาช่วยเจ้าบ้านจัดเตรียมของสำหรับใส่บาตร แม้จะยังไม่อยากลุกจากที่นอนเพราะเมื่อคืนกินอิ่มนอนอุ่น… ชาวหาดสองแควจะตื่นกันตั้งแต่เช้ามืด หุงข้าวจัดเตรียมสำรับ เมื่อพระสงฆ์เดินมารับบิณฑบาต เค้าจะใส่เฉพาะข้าวสุก อาจเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าลงในบาตร ส่วนจังหันหรือกับข้าวและของขบฉันสำหรับพระภิกษุ จะจัดสำรับวางในสาแหรกแล้วหาบตามไปถวายที่วัด ผู้ชายจะทำหน้าที่เป็นคนถวาย เมื่อพระฉันเสร็จก็จะหาบสาแหรกกลับ
บ้านไหนไม่สามารถนำของไปถวายด้วยตัวเองได้ ก็จะนำมาวางไว้บนแป้นไม้ ซึ่งแต่ละบ้านจะทำไว้ที่หน้าบ้าน ชายหญิงในชุมชนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน อาสาหาบสาแหรกเพื่อนำไปถวายพระ โดยไม่ได้กำหนดว่าเป็นหน้าที่ของใคร สาแหรกไหนหนักมากเค้ามีความเชื่อว่าได้บุญมาก เป็นกุศโลบายของคนบรรพบุรุษที่สอนให้คนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจ ไม่เกี่ยงงอนว่างานหนักงานเบา
“ชาวบ้านจะจัดคิวกันเอง ทำแบบนี้ัมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ส่วนตอนนำมาคืน รับรองได้ว่าไม่ผิดฝาผิดชาม เพราะเค้าจดจำกันได้แม่นยำเป๊ะ เป๊ะ” ป้าสนิท การันตี
ทุกวันพระ…พระคุณเจ้าจะไม่ออกบิณฑบาต เพราะชาวบ้านจะนำทั้งข้าวและอาหารไปถวายที่วัด ในวันสำคัญทางศาสนาเช่น มาฆบูขา วิสาขบูชา ฯลฯ ชาวบ้านจะแต่งตัวสวยงามด้วยแพรภัณฑ์แบบลาวเวียง หาบสาแหรกมาเดี่ยว ประเดี๋ยวก็มีเพื่อนร่วมทาง พูดคุยไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกัน อัพเดทเหตุการณ์กันไปจนถึงวัด บนศาลาจะคลาคล่ำด้วยผู้คน หลังนำถวายก็จะรอจนพระฉันเสร็จ จึงนำมาอาหารมารับประทานร่วมกัน ส่วนตอนกลางคืนก็จะพร้อมใจมาเวียนเทียนที่วัด เป็นพิธีกรรมเล็กๆ เรียบง่าย ไม่มีมหรสพใดๆ ใครได้มาเห็นรับรองต้องหลงเสน่ห์ของที่นี่กันทุกคน
ช่วงเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่ สงกรานต์ ลูกหลานที่ไปทำงานหรือศึกษาเล่าเรียนอยู่ต่างถิ่น ต้องกลับมาร่วมทำบุญกับครอบครัว เป็นเรื่องที่บรรพบุรุษพร่ำสอนไว้ คนรุ่นลูกรุ่นหลานไม่ละเลยที่จะปฏิบัติตาม
“ทุกวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี จะมีงาน “ย้อนรำลึกเส้นทางประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองตรอนตรีสินธุ์” เพื่อรำลึกถึงวันที่พระองค์เสด็จประพาสเมืองตรอนตรีสินธุ์หรือเมืองตรอนปัจจุบัน คนที่มาร่วมงานจะแต่งกายย้อนยุค บรรยากาศจะดูสวยงามมาก”
หากต้องการสัมผัสวิถีและความสุขเรียบง่ายแบบลาวเวียง กินอิ่มนอนอุ่นคืนละ 350 บาท/คน/คืน อาหาร 2 มื้อ เย็น/เช้า พร้อมของใส่บาตร สอบถามเส้นทางและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08 4505 4672, 0 5549 6098 เว็บไซต์ www.hardsongkwae.go.th