สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) เรียกโดยย่อว่า จีไอ (GI) คือคุณลักษณะพิเศษที่เกิดจากการค้นพบ เรียนรู้และหยิบใช้ธรรมชาติรอบตัว สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ซึ่งมีเฉพาะแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ ผ้าย้อมคราม หมากเม่า ข้าวฮาง เป็นหมวดหมู่หนึ่งบนพิกัดจีไอ ที่นำทางเราไปยังจังหวัดสกลนคร
ครามสกล
“มีโอกาสไปเห็นการทอผ้าและย้อมครามของชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นผ้าผืน ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เลยมองว่าศักยภาพของผ้าครามสกลมันเยอะมาก ไปแตะนิดเดียวสามารถขยายไปได้เลย เพราะมันคือวิถีชุมชนอยู่แล้ว”
แม้ไม่ได้เป็นผู้ผลิตผ้าย้อมครามโดยตรง แต่ สกุณา สาระนันท์ ผู้ริเริ่มแบรนด์สินค้าที่นำผ้าย้อมครามของชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดสกลนคร มาดีไซน์ตัดเย็บให้ดูสวยงามเข้าสมัย สวมใส่ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเสื้อ หมวก กระเป๋า ฯลฯ ยังคิดค้นชุดย้อมครามสำเร็จรูป พร้อมแพ็กเกจน่ารัก ๆ หิ้วกลับไปทำเองได้ที่บ้านในชื่อ “ครามสกล (Kramsakon)”
“เราเรียนจบเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในหม้อย้อมคราม แต่ชาวบ้านเค้าอธิบายไม่ได้หรอก แค่ต้องใส่แบบนี้แล้วจะเป็นแบบนั้น เราก็ต่อยอดมาจากเค้าอีกที”
ครามเป็นไม้พุ่ม เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับพืชตระกูลถั่ว มีเรื่องเล่าว่าตายายคู่หนึ่ง บ้วนน้ำหมากไปโดนเข้าโดยไม่ตั้งใจ แล้วเห็นว่าใบไม้เปลี่ยนเป็นสีคราม คือจุดเริ่มต้นของการนำพืชชนิดนี้มาย้อมผ้า หากแต่ยังมีกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนละเอียดลออ จนอดทึ่งในภูมิปัญญาของคนโบราณ ที่คิดค้นวิธีการนี้ขึ้นมา
ใบครามจะสดให้สีดีในตอนเช้ามืด หยุดให้สีเมื่อถูกแสง จึงนิยมเก็บก่อนพระอาทิตย์ขึ้น นำมาแช่น้ำไว้หนึ่งวัน กรองเอาน้ำมาผสมปูนขาวที่ได้จากการเผาเปลือกหอย กวนให้เข้ากันทิ้งให้ตกตะกอน กรองอีกรอบจะได้เนื้อครามที่เรียกว่า ครามเปียก
แต่ยังไม่จบง่าย ๆ ต้องผ่านขั้นตอน “การก่อหม้อ” ที่ชาวบ้านเรียก “หม้อนิล” สำหรับย้อมผ้า โดยผสมเนื้อครามเปียกกับน้ำด่างหรือน้ำขี้เถ้าลงในหม้อดิน เติมมะขามเปียก น้ำอ้อย น้ำตาลทราย ขั้นตอนจึงจะเสร็จสมบูรณ์ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าอัศจรรย์ แต่อธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
“ในใบครามจะมีสารกลูโคไซอินดิแคน (Glucoside Indican) เมื่อนำไปแช่น้ำจะเปลี่ยนเป็นอินดอกซิล (Ingokyl) ให้สีฟ้า ผสมปูนขาวพร้อมเติมอากาศโดยตีน้ำแรง ๆ ให้เกิดฟอง เนื้อปูนขาวจะเปลี่ยนเป็นสีคราม (Indigo blue) กรองแล้วจะได้เนื้อครามเปียก (Indigo cake) เก็บไว้ใช้ได้เป็นปี แต่เม็ดสีครามเป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ จึงต้องมีขั้นตอนการก่อหม้อ โดยนำเนื้อครามเปียกผสมน้ำด่างกรองเอาแต่น้ำ เติมจุลินทรีย์อันได้แก่ มะขามเปียก น้ำอ้อย น้ำตาลทราย เพื่อเปลี่ยนสีครามให้กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้ (Indigo white) หม้อครามจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียวพร้อมย้อมผ้า หลังจุ่มผ้าลงไปในหม้อย้อมแล้วยกขึ้นสัมผัสอากาศ จะเกิดปฏิกิริยา Oxidation กลับไปเป็นสีครามอีกครั้ง” (ข้อมูล : หนังสือเที่ยวชุมชนยลผ้าไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
แต่ละชุมชนจะมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นของผ้าย้อมครามที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ครามสกลจึงหยิบใช้ให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ อาจเพิ่มโน่นนิดนี่หน่อย ตามความต้องการของลูกค้า
“เราดูดีไซน์ที่ลูกค้าต้องการ ถ้าอยากได้เนื้อผ้าพลิ้ว ๆ จะต้องใช้เส้นใยอะไร จริง ๆ ชาวบ้านรู้เยอะกว่าเรามาก เราให้มาสอนเรื่องการก่อหม้อ การทอ บางอย่างชาวบ้านทำดีแล้ว แค่เข้าไปปรับนิดหน่อย เหมือนแลกเปลี่ยนความรู้กัน ตอนนี้มีกลุ่มเครือข่ายสามสิบกว่ากลุ่ม จะดูว่าแต่ละกลุ่มมีความถนัดและโดดเด่นเรื่องอะไร อย่างผ้าเข็นมือ เราจะเอาจากอูนดง โคกพลู หนองสะไน เชิงดอย จุดเด่นของเค้าคือ มีฝ้ายในท้องที่ มีครามที่สีสวย ถ้ามัดหมี่จะไปหาแถบลุ่มน้ำสงคราม เส้นใยจะพลิ้ว ลวดลายสวยงาม เพราะถนัดใช้เรยอนหรือฝ้ายประดิษฐ์”
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ขาดไม่ได้คือ ทดลองมัดย้อมผ้าด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่ครามสกล ทุกชุมชนก็จัดกิจกรรมนี้สำหรับผู้มาเยี่ยมชมเช่นกัน นิยมย้อมเสื้อยืดหรือผ้าพันคอ เพราะชิ้นไม่ใหญ่นำไปสวมใส่ใช้อวดคนอื่นได้ ด้วยวิธีพับ รัด มัด ขยำ ใครอยากได้สีเข้ม ๆ ต้องย้อมซ้ำ ๆ ในหม้อถัดไปจะย้อมในหม้อเดิมไม่ได้ เพราะเม็ดสีถูกใช้ไปแล้ว
เป้าหมายของครามสกลคือตลาดนอกพื้นที่ พัฒนาผ้าย้อมครามของชาวบ้าน มาผลิตภัณฑสินค้าแฟชั่นที่คนทุกวัยนำไปใช้ได้ จึงใช้ทำเลนอกเมือง กว้างขวางร่มรื่น ลมโกรกเย็นสบาย เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านระหว่างเดินทาง เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เรียนรู้ ทดลอง ช้อปปิ้ง ที่เยี่ยมยอด
“ผ้าครามเป็นอาชีพที่ยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับชุมชน จะยั่งยืนได้ก็ต้องรักษาคุณภาพ โดยเฉพาะความเป็นครามธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดแข็ง ที่ทำให้เราโดดเด่นและแตกต่าง ครามสกลไม่ได้ทำสิ่งใหม่ แค่เอาของที่มีอยู่ในวิถีผู้คนไปต่อยอด มันน่าภาคภูมิใจนะ”
ครามสกล เปิดทุกวัน 08.00 – 17.00 น. โทร.08 0582 6655 Line id : ppsakuna Facebook : ครามสกล- Kramsakon
หมากเม่า
“หมากเม่าเป็นไม้ป่า ออกมาจากป่า โดยนิสัยชอบอยู่ที่ดอน ดินร่วน ไม่ชอบดินชื้นแฉะ เม่าพันธุ์ท้องถิ่นจะเรียกว่า เม่าหลวง ในจังหวัดสกลนคร พบมากในเขตอำเภอภูพาน”
คณพ วรรณวงศ์ ข้าราชการครูบำนาญ เจ้าของสวนและธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมากเม่าในแบรนด์ “วรรณวงศ์” หนึ่งในกูรูผู้แตกฉานเรื่องหมากเม่าบอกเล่าให้ฟัง หมากเม่าหรือมะเม่าเป็นพืชป่าที่พบในธรรมชาติทั่วทุกภาค ผลสุกกินสดหรือนำมาปรุงอาหาร ภาคอีสานพบมากในเขต อ.ภูพาน จ.สกลนคร ชาวบ้านมักเก็บมาวางขายอยู่ตามริมทางในช่วงเดือน ส.ค.- ต.ค.
เมื่อมีงานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร ที่พบคุณประโยชน์มากมาย สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่างเช่น น้ำหมากเม่า แยมหมากเม่า ฯลฯ เป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรหลายคน หันมาสนใจการเพาะปลูกหมากเม่าเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างจริงจัง
คณพซึ่งได้ชักชวน ขาน แก้วอุ่นเรือน และ ทองเว เพียรภายลุน สองเพื่อนเกลอ ออกค้นหาหมากเม่าสายพันธุ์พื้นเมืองตามธรรมชาติในเขตอำเภอภูพาน โดยเริ่มจากหมากเม่าอายุเกินร้อยปี ต้นที่เคยเก็บกินตอนออกไปเลี้ยงควายสมัยเป็นเด็กน้อย
“พอไปถึงเราเห็นเม่าต้นนั้นในสภาพถูกฟ้าฝ่า ดูแล้วคงตายแน่นอน แต่โชคดีมากที่ตรงตอยังมีกิ่งเล็ก ๆ แตกออกมา ทำให้สามารถนำมาขยายพันธุ์ต่อได้ ตอนแรกจะตั้งชื่อพันธุ์ว่าฟ้าผ่า คิดไปคิดมามันฟังดูน่ากลัวเกินไป เลยให้ชื่อว่า ฟ้าประทาน”
สามเกลอตระเวนหาหมากเม่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ จนได้ฉายาว่า “สามเซียนหมากเม่าแห่งเทือกเขาภูพาน” พบว่าของป่าที่เห็นและกินทิ้งกินขว้างมาตั้งแต่วัยเด็ก กลับมีความหลากหลายของสายพันธุ์ มีความต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งลักษณะลำต้น ผล ใบ รวมถึงรสชาติที่โดดเด่นไปคนละทาง
“เรารวบรวมแล้วเอาชื่อหมู่บ้านหรือสถานที่ที่พบมาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ เช่น สร้างค้อ ภูโซง คำไหล ฯลฯ แต่ละพันธุ์ก็มีรสชาติเฉพาะตัว ฟ้าประทาน ภูโซง รสหวานเปรี้ยว เหมาะกับการกินลูกสดหรือคั้นทำน้ำหมากเม่า ส่วนพวกที่รสเปรี้ยวฝาด เหมาะกับนำไปทำไวน์”
มีงานวิจัยยืนยันว่า ผลหมากหม่ามีคุณประโยชน์มากมาย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระแอนโทไซยานิน วิตามินหลายชนิดเช่น B1 B2 ฯลฯ กรดอะมิโน 18 ชนิด สารฟลาโวนอย (สีม่วงแดง) ช่วยยับยั้งและต้านเซลมะเร็ง ทำให้เกิดความตื่นตัวเป็นที่สนใจในวงกว้าง จนเกิดเป็นชมรมหมากเม่าสกลนคร แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาสายพันธุ์เพื่อส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ อย่างที่สวนสุวรรณวงศ์ของคณพ มีเครือข่ายนำกิ่งพันธุ์ไปปลูก เก็บผลผลิตส่งมาแปรรูป ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
“ในสวนเราตอนนี้มีอยู่ 18 สายพันธุ์ การขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ดจะช้ากว่าวิธีเสียบยอด แต่ตอนนี้มีวิธีที่ได้ผลเร็วคือ การทาบกิ่งแบบเสริมต้นตอ โดยใช้กิ่งพันธุ์มาทาบกับกิ่งใหญ่ที่จะใช้เป็นต้นตอ สามารถทำได้ถึงแปดกิ่งพันธุ์ต่อหนึ่งต้นตอ วิธีนี้ทำให้หมากเม่าออกลูกเร็ว ซึ่งปกติจะออกลูกปีละครั้งและสุกในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย.”
การแปรรูปหมากเม่าของสวนสุวรรณวงศ์ นิยมทำเป็นน้ำหมากเม่า ที่คั้นจากผลสุกดำแบบเพียว ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ และแบบผสมผลสุกดำกับแดง แต่งรสด้วยน้ำตาล รวมถึงไวน์หมากเม่าซึ่งได้รับความนิยมจากคอไวน์ไม่น้อย เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ขออนุญาตและผ่านการตรวจสอบมาตรฐานอย่างถูกต้อง ปัจจุบันตลาดรองรับผลิตภัณฑ์จากหมากเม่าความเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
พืชท้องถิ่นจากหัวไร่ปลายนาที่แทบไม่มีราคาค่าตัว ปัจจุบันสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอภูพานและใกล้เคียงเป็นกอบเป็นกำ จนถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน” หากสนใจและต้องการความรู้เพิ่มเติม ครูคณพยินดีต้อนรับทุกคนทุกกลุ่ม ติดต่อได้ที่
สวนวรรณวงศ์ บ้านโพธิ์ชัยพัฒนา ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร โทร.0 4216 3530
ข้าวฮาง
“อันนี้ข้าวเหนียวฮาง นึ่งร้อน ๆ เลยจ้า”
สุพรรณี ร่มเกษ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาบ่อ ต.ปลาโหล อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เปิดกระติ๊บข้าวเหนียว เผยให้เห็นเมล็ดข้าวอวบอิ่ม สีน้ำตาลทอง ควันฉุยกลิ่นหอมโชยขึ้นจมูก เนื้อนุ่มรสชาติอร่อยกว่าข้าวเหนียวทั่วไปที่เคยกิน เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวภูไทแต่โบราณ ในการรักษาคุณค่าทางอาหาร ส่งต่อถึงลูกหลานได้อย่างน่าประหลาดใจ
“วัฒนธรรมของชาวภูไท ที่บรรพบุรุษสั่งสอนมาคือ ไม่ให้เกี่ยวข้าวที่แก่จัด เพราะจะทำให้ข้าวร่วงง่ายและได้ข้าวที่ไม่มีน้ำนม อย่างปัจจุบันเราปลูกข้าว 120 วัน แต่จะเกี่ยวข้าวที่ช่วงอายุ 110 วัน”
ครอบครัวสุพรรณ๊ยึดแนวทางเกษตรอินทรีย์มาหลายปี หลังฤดูเก็บเกี่ยวจะพักนาโดยทิ้งไว้เฉย ๆ จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ฝนแรกมาเยือน จึงลงมือไถกลบ ตากดินไว้สักระยะแล้วทำซ้ำจนครบ 3 รอบ ตอซังข้าวคือปุ๋ยชั้นดี ไม่ต้องพึ่งพาเคมีใด ๆ ผ่านขั้นตอนนี้ไปจึงจะเริ่มลงมือปักดำทำนา
“เราทำได้แค่นาปี ขึ้นอยู่กับเทวดาอย่างเดียว หญ้าที่ขึ้นในนาก็เกี่ยวเอาไปเลี้ยงสัตว์ ไม่ฉีดยาฆ่าหญ้า แมลงก็มีแต่ปล่อยให้เป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติ ถ้าสังเกตให้ดีข้าวที่บ้านนาบ่อจะงาม ต้นสูงเสมอกันและไม่มีข้าวล้ม การทำอินทรีย์มันเป็นผลดีในระยะยาว เมื่อก่อนมีแต่คนว่าเราบ้า เดี๋ยวนี้หันมาทำกันหมดเพราะเห็นตัวอย่างจากเรา”
ผลจากการเลือกวิถีเกษตรอินทรีย์มานาน ธรรมชาติเกิดความสมดุล ธาตุอาหารสมบูรณ์สม่ำเสมอทั่วถึง ต้นข้าวจึงแข็งแรงเติบโตอย่างเป็นระเบียบ ที่สำคัญตามร่องคันนา ยังมีปลาดุกปลาช่อนสัตว์น้ำนานาชนิด เดินทางเข้ามาในระบบห่วงโซ่อาหารเหมือนอดีต
“เรายังต้องใช้รถเกี่ยว แต่จะบอกให้เค้าล้างข้าวเก่าที่ค้างออกให้หมดก่อน เพื่อไม่ให้ปะปนกับข้าวของเรา”
หลังเก็บเกี่ยวจะตากไล่ความชื้นในระดับหนึ่ง เมื่อถึงเวลาทำข้าวฮาง จึงนำมาแช่น้ำทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วใส่หวดนึ่งอีกหนึ่งชั่วโมงโดยประมาณ แต่ในช่วงครึ่งทางจะยกลงจากเตาถ่ายใส่หวดใบใหม่ เพื่อสลับข้าวจากบนลงล่าง แล้วขึ้นเตานึ่งอีกครั้งให้ข้าวสุกทั่วถึงกัน ได้ที่จึงลงจากเตา นำไปตากแดดผึ่งลมอีกประมาณสองวัน
“สมัยก่อนเค้าจะขุดดินให้เป็นร่อง ภาษาภูไทเรียกว่าฮาง คนภูไทเค้าจะพูดว่า ขุดเตาฮางนึ่งข้าว เลยเป็นที่มาของชื่อ ข้าวฮาง”
การนึ่งข้าวด้วยฟืน วิธีควบคุมไฟไม่ให้อ่อนหรือแก่เกินไป ต้องอาศัยทักษะความชำนาญที่สั่งสมมามากพอควร เตาฮางที่บ้านสุพรรณี ถูกปรับปรุงและดีไซน์ใหม่โดยยึดรูปแบบจากต้นฉบับดั้งเดิม ด้วยฝีมือสถาปนึกประจำบ้านคือสามีของเธอเอง ทำให้สามารถนึ่งข้าวได้สิบหวดในคราวเดียว
ข้าวเปลือกที่ผ่านการนึ่งและตากจนแห้ง เมื่อนำมาสีเป็นข้าวกล้องจะมีสีน้ำตาลทอง เยื่อหุ้มเมล็ด จมูกข้าวไม่หลุดหรือแตก เมล็ดข้าวสมบูรณ์อุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ทั้งกาบา โปรตีน วิตามิน ไฟเบอร์ สารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ เมื่อถูกพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อจำหน่าย เริ่มต้นเฉพาะข้าวเจ้า โดยใช้ข้าวหอมมะลิ 105 นายปานชัย บวรรัตนปาน ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครในขณะนั้นจึงตั้งชื่อให้ว่า “ข้าวหอมทองสกลทวาปี”
“สมัยก่อนชาวบ้านจะทำไว้กินเอง แล้วให้ลูกหลานเอาไปฝากเจ้านาย พอเค้าได้กินก็ชอบใจถามว่าข้าวอะไรหอมจัง เลยทดลองขายในเขตจังหวัดสกลนครก่อน ครั้งแรกที่ไปออกงานในกรุงเทพ ฯ เจ็ดวันขายข้าวฮางได้แค่ห้ากิโล จำได้ไม่มีวันลืม”
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่สุพรรณีขอสู้ต่อ เมื่อได้รับการอบรมเสริมความรู้ จึงเปลี่ยนวิธีทำการตลาด โดยขอจดบันทึกข้อมูลลูกค้า แล้วโทรเข้าไปพูดคุยสอบถาม หากต้องการข้าวฮางอีก จะส่งให้ถึงบ้าน
“ลูกค้าบางคนเริ่มจากสองขวด เพิ่มเป็นสิบ ยี่สิบกิโล คนที่เค้ากินก็บอกต่อไปเรื่อย ๆ เราทำตลาดแบบนี้อยู่สิบปี ส่งตั้งแต่อุดรถึงระยอง กำไรไม่มากแต่ได้ใจลูกค้า ยอดการสั่งเพิ่มขึ้น ตอนนี้ในกรุงเทพฯ มีวางขายที่ตลาดบองมาเช่ เราทำเป็นรูปกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลิตเองขายเอง รับซื้อข้าวเปลือกเพื่อมาทำข้าวฮาง ให้ราคามากกว่าท้องตลาด อย่างข้าวหอมมะลิเค้าให้ตันละเจ็ดพัน แต่เรารับซื้อเก้าพัน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาอย่างเราก็ดีขึ้น”
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาบ่อ ตั้งราคาขายไว้ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท มีทั้งข้าวฮางเจ้า ข้าวฮางเหนียว ข้าวฮางไรซ์เบอรี่ ข้าวฮางสามกษัตริย์และข้าวฮางบด ที่สุพรรณีบอกสามารถใส่พร้อมกาแฟ แล้วคนดื่มได้เลย
ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ โทร.08 6015 1104, 08 5231 3578 Line : 0860151104