“โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นเมื่อปี 2543 สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาประทับแรม ทรงทราบปัญหาช้างป่าออกไปรบกวนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน พระองค์ทรงเป็นห่วงทั้งช้างทั้งคน จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้กรมป่าไม้ในสมัยนั้น ปลูกพืชอาหารช้าง เพื่อดึงช้างกลับคืนสู่ป่า หน้าที่ของโครงการคือสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร สร้างโป่งเพราะในธรรมชาติมีไม่เพียงพอ ”
วัชระ ธรรมสอน หัวหน้าโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บอกเล่าความเป็นมาให้ฟัง
อ้อยไม่ได้เข้าปากช้าง
พืชอาหารที่เป็นเมนูโปรดของช้างมี ไผ่ กล้วย หว้า มะม่วงป่า มะไฟป่า ฯลฯ … ซึ่งจะนำเข้าไปปลูกในพื้นที่ป่าธรรมชาติ … แล้วอ้อยหายไปไหน … วัชระบอกว่า ช้างป่าตามธรรมชาติไม่กินอ้อย คือกินแต่ใบ ไม่กินลำอ้อยที่หวาน ๆ ก่อนเข้ามาทำงานตัวเขาเองยังมีความคิดแบบคนทั่วไปที่เชื่อว่า ช้างชอบกินอ้อย จนได้ศึกษาพฤติกรรมอย่างจริงจัง จากฝูงช้างที่บุกรุกไร่อ้อยของชาวบ้าน อีกอย่างคือการนำอ้อยซึ่งเป็นพืชต่างถิ่นเข้าไปปลูกในเขตอุทยาน ฯ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้
เสริมโป่งร้าง สร้างโป่งเทียม
ช้างเป็นมังสวิรัติร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงจำเป็นต้องหาแร่ธาตุตามโป่งดินเป็นอาหารเสริม เช่นเดียวกับเก้ง กวาง หมี เสือปลา เสือโคร่งและสัตว์ป่าอีกหลายชนิด เมื่อแร่ธาตุจืดจาง จะถูกทอดทิ้งเพื่อไปหาแหล่งอาหารใหม่ ทางโครงการจะเข้าไปเติมความสมบูรณ์ให้โป่งร้างเหล่านั้น ด้วยเกลือและแร่ธาตุที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ลักษณะเป็นก้อนกลม ๆ โป่งเทียมที่สร้างขึ้นใหม่ก็ใช้วัตถุดิบสองอย่างนี้เช่นเดียวกัน
“ยี่สิบห้าโป่ง ช้างเข้าทุกโป่ง แต่ปี 2558 มีสองโป่งที่ช้างไม่ลง เราพบร่องรอยวัวควาย ปกติช้างจะรักสะอาดนะ ถ้าสัตว์อื่นไปถ่ายเรี่ยราดในโป่งเค้าจะไม่ลงเลย”
สร้างและปรับปรุงแหล่งน้ำ
ยักษ์ใหญ่อย่างช้างกินน้ำเฉลี่ยวันละ 200 ลิตร นอกจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ โครงการได้ออกค้นหาพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีน้ำซึมน้ำซับ ขุดเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ทำทางลาดสำหรับให้ช้างเดินขึ้น-ลง ได้อย่างความปลอดภัย บ่อไหนแคบก็จะขยายให้กว้างขึ้น มักทำไว้สองบ่อให้อยู่ใกล้ ๆ ไม่ห่างกันนัก หัวหน้าวัชระบอกเหตุผลว่า นิสัยของช้างป่า จะแยกบ่อสำหรับดื่มกินกับบ่อที่ยกโขลงลงไปนอนแช่เล่นสนุก ไม่ใช้ร่วมกันเหมือนสัตว์ชนิดอื่น
รั้วไฟฟ้า
“กระแสไฟที่รั้ว ไม่ทำอันตรายต่อคนและสัตว์ เพราะเป็นไฟฟ้ากระแสผลัก โดนแล้วแค่สะดุ้งแต่ไม่ดูดเหมือนไฟบ้าน มีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร และมีโครงการจะทำเพิ่มอีก”
รั้วไฟฟ้าช่วงสามปีแรกได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก สามารถเรียนรู้ว่าบริเวณเสานั้นไม่มีกระแสไฟฟ้า จะช่วยกันพังแล้วเดินทอดน่องออกมา ทางเจ้าหน้าที่ก็เรียนรู้ที่จะหาวิธีเสริมความแข็งแรงตรงเสา เรียกว่าเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างคนกับช้าง หัวหน้าวัชระเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยเห็นช้างตัวเล็ก ๆ กำลังจะรอดรั้วด้านล่างออกมา นับว่าเป็นสัตว์ที่ไอคิวสูงมาก
“ชาวบ้านซึ่งทำกินอยู่ติดแนวป่าของเขตรักษาพันธุ์ ฯ เมื่อถูกช้างบุกรุกพืชไร่บ่อย ๆ จึงเปลี่ยนมาปลูกยางพารา ป่าธรรมชาติกับสวนยางจึงดูเหมือนป่าผืนเดียวกัน ช้างจึงพากันยกโขลงเดินไปเรื่อย ๆ จนสุดแนวรั้วซึ่งมีระยะทาง 12 กิโลเมตร เพื่อออกไปหาอาหารกินยังพื้นที่อื่น ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน”
รั้วรังผึ้ง
“เป็นงานวิจัยจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง ได้ดำเนินการสามแปลงตัวอย่าง ชาวบ้านคนไหนสนใจเราก็จะไปติดตั้งทำรั้ว เราอยากให้เค้าพึ่งพาตัวเองโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ ยิ่งช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงดึก ๆ จะได้รับแจ้งจากชาวบ้าน หัวหน้าไปไล่ช้างหน่อย เจ้าหน้าที่เราก็ไม่ได้หลับได้นอน”
รั้วรังผึ้งเป็นการนำรังผึ้งที่เลี้ยงในกล่องไม้ ไปแขวนไว้รอบ ๆ บริเวณพื้นที่การเกษตร โดยผูกโยงเว้นระยะห่าง ๆ กัน เมื่อช้างเดินมาชนเชือก แรงสั่นสะเทือนจะไปปลุกให้ผึ้งแตกรังตามสัญชาตญาณ ยังมีงานวิจัยอีกว่า เสียงกระพือปีกของผึ้งจำนวนมหาศาล จะทำให้ช้างแสบแก้วหู สังเกตุได้จากต้นไม้ต้นไหนมีรังผึ้งช้างจะไม่เข้า
“จุดอ่อนของช้างอยู่ที่ดวงตาและงวง เวลาเค้าโดนเค้าก็จะถอย ผึ้งไม่ทำอันตรายช้างจนถึงชีวิต สามแปลงตัวอย่างได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มว่าจะมีชาวบ้านเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว รังผึ้งจะถูกนำไปเลี้ยงเพื่อเก็บน้ำหวานไปขาย สร้างรายได้อีกทาง”
แหล่งอาหาร เพิ่มประชากรช้าง
พื้นที่ห้าแสนหกหมื่นกว่าไร่ เป็นพื้นที่ทำกินประมาณสองแสนไร่ เนื่องจากการประกาศเขตรักษาพันธุ์ฯ สมัยก่อน เครื่องมือเครื่องไม้ในการวัดพิกัดยังไม่ทันสมัย ทำให้มีชุมชนซึ่งอยู่อาศัยดั้งเดิม 12 หมู่บ้านอยู่ภายในเขตด้วย รัฐบาลจึงประกาศเป็นเขตผ่อนปรน อนุญาตให้ทำกินแต่ห้ามบุกรุกเพิ่ม
จากการสำรวจจำนวนช้างในปี พ.ศ.2542 มี 50 ตัว ซึ่งทำขึ้นก่อนตั้งโครงการหนึ่งปี จนการสำรวจครั้งล่าสุดปี พ.ศ.2558 มี 98 ตัว
“พฤติกรรมของช้างจะอยู่เป็นโขลงเป็นครอบครัว ช้างหนุ่มเมื่อโตเต็มวัย จะถูกขับออกจากฝูงที่เรียกว่า ช้างโทน เพื่อออกไปหาคู่ สร้างครอบครัว สร้างอาณาจักรของตัวเองขึ้นใหม่ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง รองรับช้างได้เต็มที่ 130 ตัว”
ปัจจุบันที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ จัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์แก่เยาวชนและกลุ่มคณะสนใจ เช่น การสร้างโป่ง ฯลฯ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านน้ำค้อ ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย ติดต่อ คุณวัชระ ธรรมสอน หัวหน้าโครงการ ฯ ได้ที่โทร.08 1871 6478