เราใช้บริการเรือโดยสารประจำคลองแสนแสบอยู่บ่อย ๆ เลยไม่ค่อยใส่ใจกับละอองน้ำที่จะปลิวมาเกาะผิวหน้า เพราะผ่านวัยสิวเห่อมานานหลายปี คงมีกระฝ้าทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้น แต่สาวน้อยร้อยชั่งเพื่อนร่วมทางอีกคนคงไม่คุ้นชิน ท่าทางจึงหวั่นกลัว แม้จะนั่งในตำแหน่งปลอดภัยหลังเบาะคนขับ น้ำในคลองไม่ได้ฉ่ำเย็นชื่นใจ แต่เป็นทางเลือกที่เร็วไวกว่ารถประจำทาง เวลาอันมีค่าจึงต้องแลกมาด้วยกลิ่นไม่พึงปรารถนากับละอองเหม็นที่กระเซ็นซ่าน
จากบางกะปิ รามคำแหง คลองตัน อโศก (ตรงนี้ขึ้นท่าไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดินได้) เรือช่วงแรกหมดระยะประตูน้ำ ท่านใดจะไปต่อ ต้องขึ้นจากลำเก่าลงลำใหม่ซึ่งคอยท่าอยู่ด้านหน้า แค่โชว์ตั๋วโดยสารใบเดิม ถึงโบ๊เบ๊ผู้โดยสารหายไปเกือบหมดลำ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุน หาซื้อเสื้อผ้าอาภรณ์ไปจำหน่ายขายต่อ เรือเทียบท่าผ่านฟ้ามองเห็นภูเขาทองเหลืองอร่ามงามตา จริงดังคำกล่าว … ภูเขาทองมองจากมุมไหนก็สวย
สมาชิกต่างวัยมีทั้งสายบุญและสายชิม แต่ไปไหนมาไหนด้วยกันได้อย่างสันติ แสงแดดทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง โพต้นใหญ่แตกใบอยู่ริมคลองหลังป้อมมหากาฬ ที่กำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ ใบโพวัยละอ่อนไม่นานคงเติบใหญ่เข้มเขียวให้ร่มเงา ตรงนี้เป็นจุดบรรจบของคลองบางลำพู คลองโอ่งอ่างและคลองมหานาค เรียกตามลักษณะว่า “สามแพรก” หากเป็นทางบกจะเรียก “สามแพร่ง”
อาคารริมคลองติดกับต้นโพสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ เดิมใช้เป็นท่าเรือของเจ้านายผู้ใหญ่ บางคราวใช้สำหรับประทับทอดพระเนตรการเล่นสักวาในงานภูเขาทอง พวกเราไม่ใช่กูรูผู้แตกฉานด้านประวัติศาสตร์ แต่ Google ตอบเราได้เกือบทุกปัญหา เทคโนโลยีอยู่ในมือ เมื่อใช้มันให้เกิดประโยชน์ จะเที่ยวสนุกเพลินเพลินไม่รู้เบื่อ
จากท่าเรือผ่านฟ้าเลี้ยวขวาไปตาม ถ.ดำรงรักษ์ มื้อเช้าตั้งใจมาชิมขนมจีนไหหลำที่ร้านสุธาทิพย์ ตรงเชิงสะพานนริศดำรัส ร้านเปิดมาร้อยกว่าปี เส้นขนมจีนไหหลำทำจากแป้งข้าวเจ้า หน้าตาราวฝาแฝดกับเส้นอูด้ง มีให้ชิมทั้งแห้ง/น้ำ แบบแห้งเค้าจะตุ๋นจนเปื่อยนุ่ม (มีหมูและเนื้อ) ใส่แป้งนิดหน่อยพอหนืด ราดลงบนเส้น เติมงาขาว ถั่วลิสง ต้นหอม กระเทียมเจียว ผักกาดดอง เคล้าให้เข้ากันก่อนกิน มีกะปิไหหลำเค็มอมเปรี้ยวถ้วยเล็ก ๆ ไว้เสริมรส ถ้าสั่งแบบน้ำเค้าจะใช้เนื้อหรือหมูสดลวกสุก ไม่ตุ๋นเหมือนแบบแห้ง เติมน้ำซุปพอขลุกขลิก ยังมีสตูว์ลิ้นวัว หมูอบถั่วลันเตา ข้าวเนื้ออบ ข้าวมันไก่ ฯลฯ ชวนชิมอีกสารพัดเมนู (เปิด ๘.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. หยุดวันจันทร์)
อิ่มพุงแล้วเดินข้ามสะพานมาตาม ถ.จักรพรรดิพงษ์ ตรงมาทางแยกแม้นศรี เลี้ยวขวา ถ.บำรุงเมือง เพราะเพื่อนบอกว่าอาคารเก่าย่านนี้เค้าปรับปรุงซ่อมแซมทาสีใหม่ เลยอยากมาเห็นด้วยตา ผ่านตรอกเซี่ยงไฮ้แหล่งทำโลงศพ หากมาถามหาชื่อตรอก คนแถวนี้คงหยุดคิด แต่ถ้าบอก “ซอยโลงศพ” เป็นร้องอ๋อ
เดินทอดน่องชมอาคารเก่าที่ถูกชุบชีวิตใหม่ ข้ามสะพานสมมตอมรมารค เลี้ยวขวาตรงแยกสำราญราษฎร์ แต่เราคุ้นในชื่อ “แยกประตูผี” เพราะเคยเป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายคนตายออกจากกำแพงพระนคร ตรงนี้มองไปจะเห็นเสาชิงช้าอยู่ปลายทาง สมาชิกหนึ่งคนขอแวะร้าน “น้ำอบนางลอย” ตรงข้ามวัดเทพธิดาราม ซื้อน้ำอบ แป้งร่ำ ไปฝากป้ารวมถึงตัวเอง เพราะใช้มาแต่ยังตัวน้อย ๆ หอมเย็นแบบไทย เด็กรุ่นใหม่คงไม่มีใครใช้หรือแทบไม่รู้จัก กลับบ้านค่ำนี้หม่อมป้าคงยิ้มแก้มปริ
ข้ามฝั่งถนนมาวัดเทพธิดารามวรวิหาร เข้าไปกราบ หลวงพ่อขาว หรือ พระพุทธเทววิลาส แกะจากศิลาขาวประดิษฐานบนเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย พระอุโบสถดูเรียบง่ายหลังนี้ ซ่อนศิลปะอันงดงามมากมายไว้ภายใน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างวัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดา สถาปัตยกรรมในรัชสมัยของพระองค์ มักผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับจีน ประดับเครื่องเคลือบจีน มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบไทย
มีความเชื่อว่าวัดนี้ถูกโฉลกกับผู้หญิงตามชื่อ โดยเฉพาะการเข้าไปขอพรต่อรูปหล่อพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา หนึ่งในรูปหล่อภิกษุณีจำนวน ๕๒ องค์ ที่ตั้งอยู่ด้านในวิหารภิกษุณี ส่วนวิธีต้องถามหลวงพี่ที่ดูแลก็จะได้รับความกระจ่าง สุภาพบุรุษจึงทำได้แค่ไหว้พระ หมดสิทธิ์ขอพรตามความเชื่อ หลวงพี่บอกเราว่า ถ้ายังไม่ได้ปิดประตูไม้ชั้นใน แสดงว่ายังเปิดให้เข้าอยู่ หากติดกิจธุระจะปิดแค่ประตูลูกกรงเหล็กล็อกกุญแจไว้ ให้เคาะระฆังหน้าวิหารหรือสายตรงตามเบอร์ที่เขียนบนกระดานได้เลย
ด้านข้างวัดติดซอยหรือ ถ.สำราญราษฎร์ ทะลุมาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตั้งใจมาแวะนั่งพักที่ร้านกาแฟบุตรี (Budhtri Coffee) ใกล้ ๆ เสาชิงช้า ร้านเล็ก ๆ น่ารักที่สามศรีพี่น้องชงเองเสิร์ฟเอง แถมราคายังเบากระเป๋า แต่ลืมไปว่าเค้าหยุดเสาร์อาทิตย์ เลยเดินเข้าไปกราบพระศรีศากยมุนี ที่วัดสุทัศน์ฯ ตามความเชื่อจะทำให้เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์ต่อบุคคลที่พบเจอ
น่าแปลกใจทุกครั้ง แม้อากาศข้างนอกจะร้อนแค่ไหน แต่ในโบสถ์วิหารมักจะมีลมเย็นพัดผ่านเข้ามาเสมอ ออกจากวัดเลี้ยวซ้ายเข้าตรอกแคบ ๆ หลังป้อมตำรวจหัวมุมถนนตีทอง เดินชั่วประเดี๋ยวก็จะถึงบ้านหมอหวาน “บำรุงชาติสาสนายาไทย”
อาคารโคโลเนียลหลังนี้ เป็นสถานที่ปรุงยามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๑ โดยนายหวาน รอดม่วง จนถึงปัจจุบันคนรุ่นเหลนยังรักษาสืบทอดการปรุงยาหอม ๔ ตำรับ คือ สุรามฤทธิ์ อินทรโอสถ ประจักร สว่างภพ แบบโบราณไว้เป็นอย่างดี ทุกสูตรมีทองคำเปลวเป็นส่วนผสม จะมีแต่สุรามฤทธิ์ที่พิเศษกว่าใครเพราะหุ้มเม็ดยาอีกชั้นด้วยทองคำเปลว นัยว่ามีผลด้านสรรพคุณยา ยังมีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาให้เข้ายุคสมัย ทั้งยาอมชื่นจิตต์ ยาดมกลิ่นน้ำปรุง ฯลฯ เลยได้ติดไม้ติดมือกันมาคนละอย่างสองอย่าง
ฝนที่ตั้งเค้าเมื่อสักครู่ คงถูกลมพัดไปเติมน้ำให้ที่อื่น ออกจากบ้านหมอหวานสายกินเรียกร้อง “นายอ้วนเย็นตาโฟ เสาชิงช้า” ต่อด้วย “ก.พานิช” ข้าวเหนียวมูนเจ้าเก่าแก่ หลายคนคิดว่ามีเฉพาะซื้อกลับบ้าน แต่ในร้านเตรียมเก้าอี้เตี้ย ๆ ไว้ให้นั่งกินได้ เลยจัดข้าวเหนียวมะม่วงอกร่องกับน้ำดอกไม้มาอย่างละจานหารสี่
เสร็จแล้วข้ามไปฝั่งแพร่งภูธร ชิมไอติมกะทิเย็น ๆ ที่ร้านนัฐพร นอกจากกะทิยังมี กาแฟ ชาไทยและอีกหลากรส เดินข้ามคลองหลอดมานั่งผึ่งพุงรับลมเย็น ๆ ในสวนสราญรมย์ บรรยากาศร่มรื่นลมโกรกหน้าพาหนังท้องตึงหนังตาหย่อน จนผลัดกันงีบไปหนึ่งตื่นสั้น ๆ
สุดท้ายปลายทางเราได้มายืนมองพระอาทิตย์ตกบนสะพานพุทธ ตามข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่วางแผนเที่ยว การเดินทำให้เราได้พบ สัมผัสเรื่องราวระหว่างทาง บางแห่งเปลี่ยนแปลงหรือหายไป บางแห่งยังคงเดิม คนต่างจังหวัดที่มาเรียน ใช้ชีวิต ทำงานอย่างพวกเรา จึงมีความทรงจำกับเมืองหลวงมากมาย
ความสุขของแต่ละคนย่อมต่างกัน บางคนหลงรักทะเล อีกคนอาจหลงเสน่ห์ดอยสูง เงื่อนไขหลายอย่างทำให้เราไม่สามารถตอบความสนองต้องการของหัวใจได้ทั้งหมด ลองมองหาเรื่องราวใกล้ตัว จัดสรรเส้นทางที่ชอบในแบบของตัวเองและเพื่อนร่วมทาง ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ อย่างที่พวกเราทำกันในวันนี้ ถึงจะมีเวลาไม่มาก แต่เป็นวันอันมีค่าในมหานคร ที่เต็มอิ่มไปด้วยความสุข
ข้อตกลงแรกคือ หม่ำมื้อค่ำริมเจ้าพระยาที่ร้านแห่งหนึ่ง แต่เพราะสมาชิกในกลุ่มเอ่ยคำว่า “เยาวราช” ขึ้นมา สายตาสี่คู่หันมาสบกันเหมือนรู้ใจ