เทือกเขาสลับซับซ้อนท่ามกลางม่านหมอกและธรรมชาติเขียวขจี นับเป็นทัศนียภาพคุ้นตาของอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อากาศที่ดีตลอดปีเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวมากอดลมหนาวไม่ขาดสาย … หากแต่เขาค้อยังมีเพชรล้ำค่าซ่อนอยู่เบื้องหลังทิวทัศน์อันงดงาม เป็นความงามสามัญเรียบง่ายเมื่อมองด้วยตา แต่กลับงามเกินคณาเมื่อได้มองด้วยใจ
๘๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลของตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ชุมชนม้งใหญ่สุดในสยามประเทศ ย่านที่อากาศหนาวเย็นบริสุทธิ์ไม่เคยหยุดพัก หมุดหมายสำคัญในการตามหาเพชรล้ำค่า ด้านฝีมือเชิงช่างงานผ้าเขียนเทียนของ ม้งดำ (ม้งกั๊วมะบา) และงานปักละเอียดประณีตของ ม้งขาว (ม้งด๊าว) สองฝีมือที่หลอมรวมวัฒนธรรม ความเชื่อและวิถีชีวิตลงบนผืนผ้า
ก่อนฤดูเก็บเกี่ยวจะมาถึง ทั้งแม่เฒ่าและหญิงสาวพร้อมอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยและเก้าอี้ตัวน้อย จะมาประจำหลักปักฐานบริเวณหน้าบ้าน เพื่อปักเย็บผ้าใหม่และซ่อมแซมเสื้อผ้าเก่าให้ไฉไล ทันใช้ในประเพณีกินข้าวใหม่ ที่คนในครอบครัวจะร่วมกันกินข้าวจานแรกซึ่งได้จากการเพาะปลูก ทั้งยังเป็นโอกาสในการโชว์ฝีไม้ลายมือการปักผ้าและเขียนเทียน อวดชุดสวยที่ทุกคนพร้อมใจใส่มาเติมแต่งสีสันให้วันสำคัญนี้
ผ่านฤดูเก็บเกี่ยว ฉลองข้าวใหม่แห่งปี ก็ถึงเวลาที่แสนจะคึกคักของชาวม้ง นั่นคือ “น่อเป๊โจ่วฮ์” หรือ ประเพณีฉลองปีใหม่ ซึ่งตรงกับขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๒ หรือระหว่างเดือน ธันวาคม – มกราคม ห้วงเวลาสำคัญที่นักท่องเที่ยวจะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง และลองสวมใส่ชุดม้งสักครั้งในชีวิต
amazing ไทยเท่ เสน่ห์เส้นทางผ้าเพชรบูรณ์
ฝีมืองานผ้าคือคลังความรู้คู่สตรีม้ง
“ถ้าทำผ้าไม่ได้ ก็หาสามียาก”
ซี ศักดิ์เจริญชัยกุล หญิงม้งบ้านเข็กน้อยผู้ฝึกปรือวิชางานผ้ามาตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบดี บอกถึงปัจจัยหนึ่งที่สาวม้งต้องทำผ้าเป็น เพราะความสวยนั้นกินไม่อิ่ม เพศหญิงจึงต้องขยันขันแข็ง ไม่ขาดตกบกพร่องทั้งงานในบ้านนอกบ้าน ยามว่างก็มานั่งปักผ้าเป็นส่วนใหญ่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมีความสำคัญในทุกช่วงเวลาของชีวิต ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจวบจนวาระสุดท้าย
จึงต้องประดิดประดอยคอยสร้างสรรค์งานผ้า ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์ คุณแม่จะบรรจงทำ “เนงีย” หรือ เป้อุ้มเด็ก ด้วยลวดลายปักที่เกิดจากความรัก หรือการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ในวันสำคัญต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องแต่งกายด้วยชุดชนเผ่าให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ จากความเชื่อที่ว่า บรรพบุรุษจะจดจำไม่ได้และไม่ต้อนรับ งานผ้าจึงถือเป็นคลังความรู้คู่ชีวิตของสตรีม้งแบบแยกจากกันไม่ขาด เป็นเครื่องแสดงคุณค่าผ่านฝีมือของหญิงสาว ว่ามีคุณสมบัติที่ดีพร้อมจะเป็นภรรยา
amazing ไทยเท่ เสน่ห์เส้นทางผ้าเพชรบูรณ์
เขียนลาย ใส่กราฟิก
ให้ผ้ามีชีวิตและสีสัน
ความสามารถในการจับคู่สี ที่เรียกได้ว่าส่งตรงทางดีเอ็นเอ นิยมใช้สีแดงเป็นสีหลักในงานปักเพื่อสร้างความโดดเด่น แล้วจึงจับคู่สีตามความชอบ เดินฝีเข็มปักด้วยลายเรขาคณิตหลากหลายรูปทรง ลักษณะนี้เป็นเช่นเดียวกันกับงานเขียนเทียน ลวดลายต่างๆ ล้วนได้รับการสืบทอดในครอบครัว จนเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติพันธุ์อย่างชัดเจน
เสื้อผ้าม้งมีความพิถีพิถันและองค์ประกอบมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะกระโปรงจีบรอบตัว ต้องผ่านขั้นตอนหลายกระบวนการกว่าจะได้มาหนึ่งชิ้น เริ่มจากเขียนลายแบบวิธีดั้งเดิม ด้วยอุปกรณ์ “หลาเจี๊ย” หรือ ปากกาเขียนเทียน จุ่มน้ำเทียนร้อนๆ ขึ้นลวดลายเรขาคณิตบนผ้าใยกัญชงโดยไม่มีการร่างแบบ เพราะเส้นสายลายต่าง ๆ อยู่ในความคิดความชำนาญของผู้ทำมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันบ้านม้งเข็กน้อยมีผู้สืบสานงานเขียนเทียนแบบนี้เพียงสิบคน ควบคู่กับการใช้แม่พิมพ์ปั๊มเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว สำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญ
หากแต่การเขียนด้วยมือนั้นก็ยังมีความละเอียดกว่าอยู่มาก หลังจากเขียนต้องย้อมคราม นำมาผึ่งในร่มห้ามโดนแดดเพราะจะทำให้เทียนละลาย ทำซ้ำแบบนี้เกือบสิบน้ำ จนได้ความเข้มของสีที่ต้องการ จึงนำไปต้มให้เทียนสลาย ตากให้แห้งแล้วตกแต่งด้วยการปักผ้าสี หรือด้ายสีลงทับลายที่เว้นไว้ ขั้นตอนสุดท้ายคือ พับผ้าถี่ ๆ เพื่ออัดกลีบ โดยเอาด้ายเย็บแล้วปล่อยทิ้งไว้จนจีบอยู่ตัว
ลูกเล่นในการสร้างสรรค์งานผ้ามีหลายแบบ ปักด้ายไขว้แบบครอสติช ปักลายดอกเย้าเครื่องหมายบวก ปะสอยเป็นลายเรขาคณิต หรือการตัดผ้าสีมาปะบนผ้าเขียนเทียน ลวดลายโบราณซึ่งสืบทอดมักมาจากสิ่งรอบตัวที่พบเห็น อาทิ ลายตาวัว (ขอมัวงู่) ลายเท้าช้าง (กือเตอชือ) ลายก้นหอย (ก๊ากื้อ) ลายดอกเหรียญ (ป้าเจีย) ลายตีนหนู (แน้งหน่า) และลายอักษรม้ง (เด๋อม้ง) ฯลฯ ภูมิปัญญาเหล่านี้แม้ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ว่ามีมานานเพียงใดใครเป็นผู้คิดค้น เป็นงานกราฟิกซึ่งยังอยู่ยั้งร่วมสมัย ทำให้ผ้าม้งไม่มีวันเชย
amazing ไทยเท่ เสน่ห์เส้นทางผ้าเพชรบูรณ์
ม้งขาวจัดเจนงานปัก
ม้งดำสันทัดงานเขียนเทียน
ชุมชนม้งเข็กน้อยจะแบ่งออกเป็นม้งขาวและม้งดำ กลมกลืนและอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว สิ่งบ่งชี้ข้อแตกต่างคือ การแต่งกายและฝีมือการทำผ้า ชายม้งดำจะแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาว ชายเสื้อระดับเอว เป้ากางเกงหย่อนต่ำลงมา มีผ้าสีแดงปักลายที่ชายผ้าพันทับกางเกงแล้วคาดเข็มขัดทับ ผู้หญิงมักนุ่งกระโปรงใยกัญชงจีบรอบตัวสีดำหรือย้อมคราม มีลวดลายปักและเขียนเทียน มีผ้าเหลี่ยมผืนยาวปักลวดลายปิดทับรอยผ่าของกระโปรง
ผู้ชายม้งขาวสวมเสื้อกำมะหยี่แขนยาว กางเกงขาก๊วยหรือกางเกงจีนเป้าตื้น มีลวดลายน้อย หญิงสาวนิยมสวมเสื้อกำมะหยี่สีดำแขนยาว มีลายปักละเอียดซ่อนอยู่ใต้ปกเสื้อด้านหลัง เดิมจะสวมกระโปรงผ้าใยกัญชงสีขาวล้วน แต่เพราะเปื้อนง่ายจึงหันมาใส่กางเกงทรงจีนแทน
ในด้านฝีมืองานผ้า ม้งขาวจะมีความละเอียดด้านการปักกว่าม้งดำที่ถนัดงานเขียนเทียน เรื่องเล่าสนุกๆ ในหมู่ชาวม้งเข็กน้อย ถึงการที่ม้งขาวต้องซ่อนลายปักไว้ใต้ปกเสื้อ นั่นก็เพราะไม่อยากให้ม้งดำลอกเลียนแบบลาย แต่ม้งดำก็เกทับว่าม้งขาวไม่สามารถเขียนเทียนได้แบบตน เป็นเรื่องหยอกกันไปเย้ากันมา เติมสีสันในลานหน้าบ้าน ที่ทั้งม้งขาวและม้งดำต่างมานั่งปักผ้าและเขียนเทียนร่วมกัน
โดยส่วนมากงานผ้ามักทำไว้ใช้ในครัวเรือนและซื้อขายกันเองในชุมชน แต่ระยะหลังมานี้เริ่มเป็นที่นิยมสวมใส่ในหมู่คนทั่วไป บ้างก็นำไปดัดแปลงเป็นเสื้อผ้าร่วมสมัย ทำให้มียอดสั่งผลิตเพิ่มขึ้น จากงานเย็บปักถักร้อยที่ทำในยามว่าง กลายมาเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน ๑๒ หมู่บ้านในตำบลเข็กน้อย จึงร่วมกันตั้งเป็นกลุ่มผ้าปักและกลุ่มผ้าเขียนเทียน แม้จะรวมกลุ่มกันได้ไม่ถึงปี แต่ก็กระจายงานสร้างรายได้กันอย่างทั่วถึง ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจเรียนรู้ภูมิปัญญางานผ้าจากผู้เฒ่าผู้แก่มากขึ้น
amazing ไทยเท่ เสน่ห์เส้นทางผ้าเพชรบูรณ์
การถ่ายทอดที่หล่อหลอมด้วยสังคม
ผ้าม้งเก่าเก็บลายโบราณดั้งเดิม มักเป็นมรดกตกทอดในวงศ์ตระกูล ปัจจุบันหาได้น้อยตามครัวเรือน แต่ในชุมชนบ้านเข็กน้อย ก็ยังมี “พิพิธภัณฑ์ผ้าปักม้ง” ของ อาจารย์เยาวลักษณ์ ชาววิวัฒน์ ครูเกษียณที่สะสมผ้าโบราณและเปิดให้คนในชุมชนหรือนักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมเล่าประวัติความเป็นมาของผ้าแต่ละผืน โดยผืนเก่าแก่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์มีอายุถึง ๒๐๐ ปี
การส่งต่อฝีมืองานผ้า มักเป็นแบบครูพักลักจำมากกว่าเรียนรู้แบบอาจารย์สอนลูกศิษย์ การถ่ายทอดภูมิปัญญายังบ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน ที่มักมานั่งรวมกันแลกเปลี่ยน สอนหรือช่วยทำงานผ้า จากแม่สู่ลูก ยายสู่หลาน เพื่อนสู่เพื่อน กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดของชาวม้ง การแต่งกายด้วยรูปแบบอันเป็นหนึ่งเดียว ยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจ สะท้อนแง่งามของชาติพันธุ์ ให้คนรุ่นหลังภูมิใจในตัวตน รักษาอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป
- นอกจากจะมีงานผ้าให้ชม พิพิธภัณฑ์ผ้าปักม้งให้ศึกษาแล้ว วิถีชุมชนบ้านม้งเข็กน้อย ยังมีเรื่องราวน่าสนใจให้เที่ยวชม อย่างแปลงเพาะกล้าผักท้ายหมู่บ้านของ “สัจชัย ทรงสวัสดิ์วงศ์” เรียนรู้นวัตกรรมทางการเกษตรแบบง่ายๆ แต่ได้ผลผลิตดีเกินคาด หรือจะไปชิมแมคคาเดเมียที่ส่งตรงจากเขาค้อมาแปรรูปที่หมู่บ้าน ให้ซื้อชิมหรือติดไม้ติดมือเป็นของฝาก หากต้องการสัมผัสวิถีวัฒนธรรมอย่างเข้าถึง ควรมาให้ตรงช่วงเวลาสำคัญของชุมชน ทั้งประเพณีกินข้าวใหม่ งานปีใหม่ม้ง สอบถามก่อนมาเที่ยวชมชุมชนได้ที่
- อบต.เข็กน้อย โทร.๐ ๕๖๙๒ ๕๕๗๖
- กลุ่มผ้าปักและผ้าเขียนเทียน โทร.๐๖ ๒๒๙๕ ๗๕๔๕
- สัมผัสธรรมชาติ นอนนับดาว ปั่นจักรยานผ่านป่าสนและทุ่งหญ้าสะวันนาเมืองไทยที่ “อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง” ไหว้พระชมพุทธศิลป์ที่ “วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว” กินลมชมวิว “ทุ่งกังหันลมเขาค้อ” นอกจากวิวสวยแล้ว ระหว่างทางยังผ่านที่ตั้งของหมู่บ้านเพชรดำ หมู่บ้าน ๓ ชาติพันธุ์ ม้ง เย้า ลีซอ คุณยายคุณป้ามักมานั่งปักผ้าอยู่ริมทาง หยุดรถทักทายไถ่ถามเรื่องราวเกี่ยวกับการปักผ้าได้ท่านใจดีทุกคน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
- ๑๖๗๒ เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย หรือ ททท.พิษณุโลก โทร ๐ ๕๕๒๕ ๒๗๔๒
- จากบ้านเข็กน้อย ลงเขาตามเส้นทางหมายเลข ๑๒ มุ่งหน้า อ.หล่มสัก ประมาณ ๔๗ กิโลเมตร ชมการทอซิ่นหัวแดงตีนก่าน ชอปปิ้งผ้าผืนสวยที่บ้านห้วยโปร่ง คลิกเข้าไปทำความรู้จักชุมชนก่อนที่ หัวแดงตีนก่าน สวมใส่สไตล์ไทหล่ม
เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : ธนิสร หลักชัย