“แค่แรกเห็นก็หลงรัก รู้สึกได้ถึงความละมุนนุ่มฟู ของผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ในกล่องพัสดุ ที่พับและมัดประคองให้อยู่ทรงด้วยเส้นฝ้าย ประดับปุยฝ้ายสีขาว-สีน้ำตาล เป็นกิมมิคเล็ก ๆ ถ่ายทอดถึงความตั้งใจของคนทำ ที่ต้องการสื่อความหมายผลิตภัณฑ์จากชุมชน ซึ่งรังสรรค์ทุกอย่างขึ้นมาจากหัวใจและจิตวิญญาณ“
TEXTURE หรือ พื้นผิวของเส้นฝ้ายที่ดูไม่เรียบสม่ำเสมอ เลยไปถึงการทอ การลงน้ำหนักกระแทกฟืมที่หนักแน่นต่างกันในแต่ละครั้ง ทำให้ฝ้ายเข็นมือ ทอด้วยกี่ ไม่เป็นระเบียบเนี๊ยบตรงเหมือนการทอด้วยเครื่องจักร แต่ละผืนคือ Limited Edition โปรยเสน่ห์ดึงดูดใจให้หลงใหลและหลงรัก
ลักขณา แสนบุ่งค้อ หรือ บั๊ม ลูกหลานบ้านหนองบัว ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ผู้ประสานงานชุมชนที่อัดแน่นด้วยพลังบวก เล่าถึงที่มาของ “กลุ่มทอผ้าฝ้ายตุ่ย บ้านหนองบัว” ให้ฟังว่า
“จังหวัดเลยเคยชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกฝ้ายแหล่งใหญ่ของประเทศ การเข้ามาของพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ทำให้พื้นที่ปลูกฝ้ายลดน้อยลง รวมถึงบ้านหนองบัวของเรา เพราะเมืองเลยมีอากาศหนาวเย็น ส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกฝ้ายมาทอเป็นผ้าห่ม ทั้งแบบยัดไส้ฝ้ายและเป็นผืนธรรมดา เอาไว้ใช้เองในครัวเรือน เมื่อเริ่มทำโครงการเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน จึงร่วมกันค้นหาของดีที่เป็นจุดเด่นในด้านต่าง ๆ รวมถึงการทอผ้า ซึ่งมีทั้งฝ้ายขาว ฝ้ายเขียว ฝ้ายตุ่ย”
ฝ้ายตุ่ย หรือ กระตุ่ย ที่บั๊มพูดถึง คือฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองที่ให้ปุยฝ้ายสีน้ำตาลโดยธรรมชาติ คนเมืองเลยเรียกว่า “สีตุ่ย” แยกตามสีได้ ๒ สายพันธุ์ ตุ่ยน้อย ให้สีน้ำตาลอ่อน ตุ่ยใหญ่ ให้สีที่เข้มกว่า แต่ผลผลิตมีปริมาณน้อย การดีด อิ้ว เข็นเป็นเส้นฝ้าย ทำยากกว่าฝ้ายขาว เมื่อเริ่มรื้อฟื้น เธอจึงชักชวนแม่ ๆ ยาย ๆ ที่ยังทอผ้าอยู่ประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน แต่เป็นการซื้อฝ้ายโรงงานย้อมสีเคมี ทอเป็นผ้าขาวม้าสีฉูดฉาดส่งขาย มาล้อมวงคุยกันว่า เราจะลุยกันจริงจังไหม เมื่อทุกคนตอบตกลง จึงวางทิศทางและรูปแบบ ตั้งเป้าเป็น Green Product หันหลังให้สีเคมี ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชุมชนของพวกเขา
ฝ้ายจะเริ่มปลูกในฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เก็บผลผลิตช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของปีถัดมา แล้วจึงเริ่มต้นกระบวนการทอ การหาพันธุ์ฝ้ายมาปลูกในพื้นที่ จึงเน้นสายพันธุ์ดั้งเดิมในท้องถิ่น เพราะทนโรคและศัตรูพืชได้มากกว่าฝ้ายจากถิ่นอื่น
ปัจจุบันมีฝ้ายขาว ฝ้ายตุ่ย และฝ้ายเขียว ที่มีความนุ่มมากกว่า แต่ให้ผลผลิตน้อย การทำเป็นเส้นฝ้ายก็ยากกว่าชนิดอื่น ซึ่งชุมชนกำลังช่วยกันปลูกขยายพันธุ์ให้ได้ปริมาณมากขึ้น ยังมี “ฝ้ายตุ่ยจาง” ที่เกิดจากนำฝ้ายตุ่ยกับฝ้ายขาวมาปลูกในแปลงติดกัน เกิดการผสมเกสรข้ามสายพันธุ์ จนทำให้ฝ้ายตุ่ยลดความเข้มลง แต่ไม่ส่งผลต่อฝ้ายขาว ออกมาเป็นปุยฝ้ายสีครีมอ่อน โดยไม่ได้ตั้งใจ
“ครั้งแรกที่พยายามให้คุณยายลองทอฝ้ายตุ่ย ซึ่งออกสีเอิร์ธโทน คุณยายที่คุ้นเคยกับการทอผ้าขาวม้าสีฉูดฉาดมาเป็นเวลานาน ยังคิดว่า สีมันดูขี้ล่ายหรือขี้เหร่ไม่น่าใช้ เลยให้แกทอสีพื้นแบบไม่มีลวดลายออกมา ๔ ผืน ปรากฏว่านักท่องเที่ยวเหมาซื้อไปหมดเลย จึงเหมือนก้าวแรกที่ทำให้คุณยายแต่ละคน มองเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ว่าสิ่งนี้สามารถขาย สร้างรายได้มากกว่าฝ้ายโรงงานที่ทออยู่ พร้อมจับมือกันไปต่อในเรื่องฝ้ายพื้นเมืองและ Green Product”
เมื่อพื้นที่หัวใจเปิดรับสิ่งใหม่ กลุ่มทอผ้าฝ้ายตุ่ย จึงเดินหน้าแบบไม่แตะเบรก เริ่มจากทอผ้าห่ม ด้วยลายดั้งเดิมคือ “ลายลูกแก้ว” แต่กลับได้ลายใหม่เป็นของแถม เพราะเดินเส้นฝ้ายผิด
“ผู้เฒ่าผู้แก่เวลาวาดรูปภูหอ ภูเขาลูกใหญ่ซึ่งเป็นวิวในท้องนาของหมู่บ้านให้เด็ก ๆ ดู จะวาดเป็นเส้นหยัก ๆ ขึ้น-ลง แล้วชี้ว่านี่คือภูเขา มีหมอก ทุ่งนา และพระอาทิตย์อยู่ตรงกลาง ลายผ้าที่ทอผิดก็เป็นหยักขึ้น-ลง ลักษณะคล้ายกันโดยบังเอิญ เราเลยเอามาตั้งเป็นชื่อว่า ลายทะเลหมอกภูหอ ที่ทุกคนพร้อมใจกันยกให้เป็นลายประจำหมู่บ้านหนองบัวของเรา”
คนทำฝ้ายเข็นมือส่วนใหญ่ มักจะนำเส้นฝ้ายไปแช่น้ำข้าว ให้เส้นฝ้ายเหนียว แข็ง ทอง่าย บรรพบุรุษของบ้านหนองบัวก็ปลูกฝังลูกหลานมาในทฤษฎีเดียวกัน แต่ความตั้งใจที่อยากให้ผู้รับ สัมผัสถึงความนุ่มตั้งแต่ครั้งแรกที่จับ การคิดนอกกรอบโดยไม่แช่น้ำข้าว แลกกับการพุ่งกระสวย กระแทกฟืม ที่ต้องประณีตเบามือ ใช้เวลาทอต่อผืนนานขึ้น คือความพิเศษของผ้าฝ้ายเข็นมือบ้านหนองบัว ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น
“ครั้งแรกที่ขายได้ ๔ ผืน ยังย้อมน้ำข้าวอยู่ หลังจากนั้นมีลูกค้าที่ซื้อผ้าของเราไป บอกว่าทำไมผ้าแข็งจัง ซักหลายรอบแล้วยังไม่นุ่มเลย เรารู้เหตุปัจจัย เลยตัดสินใจเปลี่ยน ธรรมชาติของฝ้ายมันควรเป็นปุยนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง เมื่อทอเสร็จก่อนขาย จะซักหนึ่งรอบ เพื่อให้เจ้าของใหม่รับรู้ความนุ่มตั้งแต่สัมผัสแรกและใช้ได้เลย ในวงจรการทอผ้าของหมู่บ้านหนองบัวปัจจุบัน ทั้งคนปลูก คนปั่น คนกอ คนทอ มีอยู่ประมาณ ๒๐ คน คนทอมี ๑๒ คน ผู้ใหญ่ ๑๐ คน เด็ก ๒ คน แยกเป็นทอเฉพาะฝ้ายตุ่ยอย่างเดียว ๔ คน ส่วนคนอื่น ๆ จะทอฝ้ายขาวและฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ต้องสร้างให้ถนัดคนละอย่าง จะได้ไม่ต้องมาแข่งขันกัน”
ฝ้ายขาว ยังถูกนำมาย้อมมะเกลือ ฝาง ดอกดาวเรือง ใบสัก ฯลฯ เพื่อเพิ่มสีสันใหม่ ๆ เริ่มจากนำเส้นฝ้ายมาแช่น้ำ แล้วเอามาทุบหรือภาษาเมืองเลยเรียกว่า ฆ่าฝ้าย ให้เส้นฝ้ายฟูนุ่ม ซึมซับน้ำได้ดี แล้วแช่น้ำต่ออีกหนึ่งคืน หยิบมาทุบอีกครั้ง ทั้งที่ไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน บิดพอหมาดแล้วยกผึ่งไว้ ติดไฟตั้งหม้อต้มวัตถุดิบเตรียมสี แล้วนำเส้นฝ้ายลงย้อม ต้มไปเรื่อย ๆ หากสีเริ่มจางก็ยกขึ้นก่อน แล้วเติมวัตถุดิบลงไปใหม่ นำฝ้ายลงต้มต่อจนได้สีที่พอใจ นำมาล้างน้ำด่างก่อนผึ่งให้แห้งแล้วจึงนำมาทอ
“สีย้อมวัตถุดิบจากธรรมชาติ ยังมีข้อจำกัดคือ เมื่อซักไปนานๆ สีจะจืดลง”
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าฝ้ายตุ่ย บ้านหนองบัว จึงเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ นอกจากผ้าขาวม้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ยังนำไปแปรรูปเป็น หน้ากากผ้า หมวก หมอน สลิปเปอร์หรือรองเท้าสวมใส่ในบ้าน ตลาดหลักคือขายในชุมชน ไม่มีหน้าร้านที่อื่น เพราะต้องการให้คนเข้ามาสัมผัสชุมชน มองเห็นความลำบาก กว่าจะได้ผ้าทอแต่ละผืน
โดยเพิ่มช่องทางสั่งซื้อสินค้าผ่านเฟสบุ๊ก Bananaland ดินแดนกล้วย ๆ และ Phuho ecotour ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่กิจกรรมของชุมชน และเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกเหนือจากการทอผ้า ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่าง เช่น EcoPrint –สร้างผ้าสวยด้วยใบไม้สด กลุ่มจักสาน สัมผัสท้องนา ปราสาทฟาง นอนดูดาวและทางช้างเผือก มีฉากหลังเป็นภูหอที่ บานาน่าแลนด์-ดินแดนกล้วย ๆ หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ลดน้อยลง คงเปิดประตูหมู่บ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง
“ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ จึงเน้นขายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเป็นหลัก ลูกค้าส่วนใหญ่ มักเคยซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่า ๑ ครั้ง โดยเฉพาะผ้าฝ้ายเข็นมือ”
ในอดีต … รายได้เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการละทิ้งอาชีพทอผ้า มีคุณยายบางคนสารภาพว่า ตอนเริ่มเป็นสาว แอบไปจุดไฟเผากี่ทอผ้าของแม่ เพราะรู้ว่ากว่าจะได้ผ้าแต่ละผืนนั้นเป็นอย่างไร แถมยังขายในราคาถูก ไม่อยากรับมรดกนี้จากแม่ แต่นั่นคือช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต จึงต้องสร้างความเข้าใจให้รอบด้าน จากที่ขายแบบง่าย ๆ เรียกได้ว่าขาดทุน การคำนวณต้นทุน จึงถูกนำมาถ่ายทอดให้แม่ ๆ ยาย ๆ รับรู้
“เราจะแนะนำว่า ผ้าห่มหนึ่งผืน ต้องใช้ฝ้ายเป็นเส้นยืน ๒,๐๘๐ เส้น ให้ยายลองนับด้วยตัวเอง กว่าจะร้อยผ่านฟืม กว่าจะผูกฝ้ายเสร็จ ใช้เวลาทอกี่วัน ทุกอย่างคือความยาก ต่อไปนี้ควรเลิกใช้คำว่า ช่วยยายซื้อหน่อย ต้องสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์สินค้าให้ดี มีมาตรฐาน ให้คนภายนอกเห็นคุณค่า ว่ามันเป็นทั้งศิลปะ ความอุตสาหะ หัวใจและจิตวิญญาณของชาวบ้านคนหนึ่ง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”
กลุ่มทอผ้าฝ้ายตุ่ย บ้านหนองบัว
เลขที่ ๒๒๓ หมู่ ๑ ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย
โทร. ๐๘ ๘๙๙๓ ๙๙๐๕
Facebook : บานาน่าแลนด์-Bananaland
Facebook : Phuho ecotour