อิ่มความสุข ตามวิถีคนยี่สาร

ในสายตาของผู้มาเยือนอาจมองว่าบ้านเขายี่สารเป็นเพียงทางผ่าน แวะมาไหว้พระ กินอาหารอร่อยๆ แล้วไปต่อ ทว่าในความไม่มีอะไรของบ้านยี่สาร ยังมีเรื่องราวดีๆ ซ่อนอยู่ มารู้จักวิถีชีวิตคนสามน้ำ ภูมิปัญญาที่น่าเรียนรู้ พร้อมรื่นรมย์ชมความงามของสายน้ำและผืนป่าชายเลนริมคลองยี่สาร

บ้านเขายี่สารหรือบ้านยี่สารชุมชนเล็กๆ ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่บริเวณเขายี่สาร ภูเขาลูกเดียวของสมุทรสงคราม แวดล้อมด้วยป่าชายเลนและลำคลองหลายสายเป็นเส้นทางให้น้ำ 3 ชนิดคือ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย ไหลเวียนสลับกันไปมาอยู่ในวิถีชีวิตคนยี่สาร การปรับตัวให้อยู่ได้และอยู่ดีมีสุขกับธรรมชาติของป่าชายเลน ที่แม้จะอุดมสมบูรณ์แต่ขาดซึ่งแหล่งน้ำจืด ก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาและอาชีพที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน แต่ก่อนจะไปรู้จักวิถีความสุขแบบชาวยี่สาร มารู้จักประวัติของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้กันสักหน่อย   

จากตำนานชุมชนเล่าว่า มีชาวจีน 3 พี่น้องล่องเรือมาค้าขาย แต่เรือชนเข้ากับเขายี่สารทำให้พี่น้องพลัดพรากจากกัน พี่คนโตชื่อจีนเคราไปขึ้นฝั่งที่เขาตะเครา น้องเล็กสุดชื่อจีนกู่ไปอยู่เขาอีโก้ และคนกลางชื่อจีนขานขึ้นฝั่งที่เขายี่สาร ปักหลักบุกเบิกสร้างชุมชนซึ่งต่อมาชาวบ้านได้ขนานนามเป็นพ่อปู่ศรีราชา ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวยี่สารในปัจจุบัน นอกจากนี้บ้านเขายี่สารยังเป็นตลาดหรือแลนด์มาร์กสำคัญของเส้นทางค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะสามารถเดินเรือจากกรุงศรีอยุธยาผ่านยี่สารไปเพชรบุรี ลงใต้ไปนครศรีธรรมราช เชื่อมต่อไปยังจีน อินเดีย และยุโรปได้ ปรากฏอยู่ในหลักฐานทาง โบราณคดีที่หาชมได้ในพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร

เที่ยววัด ท่องพิพิธภัณฑ์ และตำนานพระกินเด็ก

วัดเขายี่สารเป็นโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ. 2246 หรือในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ศาสนอาคารต่างๆ ภายในวัดวางตัวไล่ระดับไปตามความสูงของภูเขา โดยแบ่งเป็น 5 ชั้น แต่เพราะเป็นภูเขาลูกเตี้ยๆ เราจึงเดินชมวัดได้อย่างสบายๆ ท่ามกลางบรรยากาศสงบร่มเย็นด้วยพรรณไม้ ชั้นแรกสุดเป็นศาลาการเปรียญขนาดสองชั้น และเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารไปในตัว ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ. 2545

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้คนในชุมชน โดยมี ผศ.สิริอาภา รัชตะหิรัญ ลูกหลานชาวยี่สารโดยกำเนิดเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ มีชาวบ้านช่วยกันรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในท้องถิ่นที่บอกเล่าวิถีชีวิต การทำมาหากิน และภูมิปัญญาของคนยี่สารในอดีตนำมาจัดแสดงไว้ที่ชั้นล่าง เช่น โพล่หรือตุ่มใส่น้ำจืด หม้อทะนน เครื่องแก้ว เครื่องลายคราม ภาพการล่มน้ำเพื่อนำน้ำจืดมาใช้ เตาเผาถ่านจำลอง ส่วนชั้นสองเล่าเรื่องราวบ้านยี่สารในแง่มุมประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เช่น เศษหม้อไหถ้วยชามกระเบื้องเคลือบที่ขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีในยี่สาร ธรรมาสน์ หางหงส์ หีบใส่พระธรรม ไฮไลต์อยู่ที่ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติบนแผ่นไม้คอสอง สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ แต่ยังคงรายละเอียดและสีสันสวยสดงดงาม สะท้อนภูมิปัญญาในการใช้สีและฝีมือของช่างในสมัยก่อน

จากนั้นเราเดินขึ้นชั้นสองของเขายี่สาร พบถ้ำพระนอนที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีนิ้วพระบาท 9 นิ้ว ชั้นสามเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถสร้างด้วยปูนขาว ความโดดเด่นอยู่ที่หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นฝีมือช่างเพชรบุรี แซมด้วยเครื่องถ้วยชามกังไส เดินขึ้นไปชั้นที่สี่เป็นลานทำบุญ มีฐานก่ออิฐเป็นแนวยาวไว้สำหรับวางบาตรพระและสำรับคาว-หวานของชาวบ้าน ด้านข้างเป็นศาลาไม้หลังใหญ่ และสุดทางที่ชั้นห้า ชมพระวิหารเก่าแก่รูปทรงเรือบนยอดเขายี่สาร ภายในซุ้มด้านหน้าพระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร บานประตูไม้ทางเข้าพระวิหารแกะสลักลวดลาย ด้านในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง 4 รอยอยู่ภายใต้มณฑปไม้ และมีพระพุทธรูปปากแดงองค์ใหญ่อยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นที่มาของตำนานพระกินเด็ก

เนื่องจากสมัยก่อนบนยอดเขามีงูเห่าชุกชุมและมีเหวอยู่ด้านหลังพระวิหาร ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กๆ ขึ้นมาเล่นจึงออกกุศโลบายว่า มีเด็กคนหนึ่งขึ้นมาเล่นบนเขา ชาวบ้านได้ยินเสียงเด็กร้องก็พากันไปดูแต่หาเด็กไม่เจอ กลับเจอรอย สีแดงที่ปากของพระพุทธรูป และว่าพระได้กินเด็กไปแล้ว ชาวบ้านจึงเอาเหล็กตะปลิงตอกปิดที่ปากพระ กลายเป็นตำนานพระพุทธรูปปากแดงหรือพระกินเด็กที่เล่าต่อๆ กันมา

ลงจากเขาเราแวะสักการะพ่อปู่ศรีราชาที่ศาลตรงเชิงเขา โดยทุกปีชาวบ้านจะจัดงานบุญบูชาพ่อปู่ 2 ครั้ง ในวันขึ้น 14-15 ค่ำกลางเดือนอ้ายจะจัดงานปิดทองพ่อปู่ และช่วงสงกรานต์วันที่ 17 เมษายนของทุกปี เป็นงานเวียนเทียน พร้อมถวายเครื่องบายศรี และมีขบวนแห่เล็กๆ เพื่อบูชาพ่อปู่ด้วย ใครว่างเชิญแวะมาเที่ยวกัน  

วิถีคนเผาถ่านบนผืนป่าโกงกางที่มีโฉนด

ด้วยสภาพชีวิตในอดีตที่แร้นแค้นแวดล้อมด้วยป่าชายเลน ปลูกข้าวปลูกผักไม่ได้ ชาวบ้านจึงหันมาปลูกป่าชายเลนเพื่อนำไม้ไปขายทำฟืน ภายหลังมีชาวจีนจากอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มาแนะนำให้ทำเตาเผาถ่าน และนำต้นโกงกางใบเล็กมาปลูกเพื่อทำถ่าน เพราะเนื้อไม้แกร่งกว่าโกงกางใบใหญ่ ถ่านที่ได้จึงมีคุณภาพดี โดยครอบครัวของอาจารย์สิริอาภา เป็นครอบครัวรุ่นแรกๆ ที่เปลี่ยนป่าชายเลนเป็นแปลงป่าโกงกางเพื่อเผาถ่านและปลูกป่าโกงกางทดแทนส่วนที่ตัดไปทุกครั้ง ซึ่งตอนหลังรัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกโฉนดให้ ยี่สารจึงเป็นชุมชนเดียวในประเทศไทยที่ทำอาชีพตัดเผาถ่านไม้โกงกางได้อย่างถูกกฎหมาย

ในการเผาถ่านไม้แต่ละเตาใช้เวลานานร่วมเดือน เริ่มตั้งแต่คัดไม้ที่ขนาดพอเหมาะคือ ไม้อายุ 10-15 ปี นำมาเลื่อยให้ได้ขนาดเรียก “ไม้หลา” แล้วทุบเปลือกออกก่อนนำมาเรียงในเตาเผาโดยไม้ขนาดใหญ่เรียงแนวตั้งเรียก “ไม้ตั้ง” ไม้เล็กวางซ้อนด้านบนเรียก “ไม้ซ้อน” ก่ออิฐปิดทางเข้าแล้วเว้นที่ด้านล่างสุดไว้เติมฟืนเติมไฟไล่ความชื้นออกจากเนื้อไม้ ซึ่งการเผาต้องเฝ้ากันตลอด 24 ชั่วโมง อยู่นาน 15 วัน เพื่อให้ถ่านด้านในสุกทั่ว ห้ามไฟดับและอากาศเข้าจะทำให้ไม้โกงกางเสียหาย จากนั้นจะปิดเตาให้สนิทแล้วอบไม้ไว้อีก 15 วัน จึงจะนำไม้ออกมาบรรจุถุงจำหน่ายได้ ปัจจุบันในชุมชนเหลือโรงเผาถ่าน 6-7 โรง บางโรงมีถึง 10 เตา แต่บางโรงมีน้อยกว่านั้น

ว่ากันว่าถ่านไม้โกงกางบ้านยี่สารเป็นถ่านที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศ ติดไฟง่ายให้ความร้อนสูง ร้อนนานสม่ำเสมอ ควันน้อย ไม่แตกปะทุง่าย ส่วนใหญ่ส่งขายต่างประเทศกิโลกรัมละ 30 บาท ขายในประเทศกิโลกรัมละ 20-25 บาท ตลาดหลักๆ ตอนนี้อยู่ที่บาห์เรน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้จากการเผาถ่านคือ น้ำส้มควันไม้ใช้ไล่แมลง ผงถ่านนำไปทำก้อนถ่านดูดกลิ่น ส่วนเปลือกไม้ใช้ย้อมผ้าได้ดี ทว่าในอนาคตองค์ความรู้ในอาชีพนี้อาจสูญหายเพราะถูกมองว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นงานหนักและสกปรกจึงเป็นอาชีพที่คนไทยรุ่นใหม่ไม่อยากทำ แต่สำหรับชาวยี่สารแล้วนี่คืออาชีพเลี้ยงปากท้องที่ช่วยให้อยู่รอดจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เมื่อตัดไม้ก็ต้องปลูกป่าทดแทนเพื่อ รักษาป่าให้สมบูรณ์จึงจะเป็นวิถีชีวิตที่สมดุลระหว่างคนกับป่า

จากเปลือกไม้ชายเลนสู่ผ้าน้ำปะเตาผืนงาม

อีกกิจกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์คนยี่สาร และสร้างรายได้ให้ชุมชนไปด้วยคือ กิจกรรมผ้ามัดย้อมและทำก้อนถ่านดูดกลิ่น โดยมีกลุ่มเปลือกไม้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง พร้อมกับความตั้งใจที่อยากฟื้นฟูภูมิปัญญาของชาวยี่สารในสมัยก่อนคือ การย้อมผ้าน้ำปะเตาด้วยพืชป่าชายเลน โดยนำเปลือกไม้อย่างตะบูน ปุโรงหรือโปรงมาต้มจนได้น้ำสีเข้มใช้ย้อมแหย้อมอวน รวมถึงย้อม “ชุดตั๋ง” เสื้อผ้าที่ใส่ทำงานตัดไม้เผาถ่านและทำประมง ความฝาดของเปลือกไม้ทำให้เส้นใยผ้าธรรมชาติมีความเหนียว ทนทาน ไม่เปื่อยง่าย อีกทั้งยางไม้ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคที่เกิดจากการหมักหมมของเหงื่อไคล แต่ภายหลังไม่นิยมย้อมผ้ากันแล้วเพราะหันไปใช้ผ้าใยสังเคราะห์แทน

ครูไพรัช แก้วกาม หนึ่งในผู้ฟื้นฟูภูมิปัญญาการย้อมผ้าแบบชาวยี่สารอธิบายให้ฟังว่า

“การย้อมผ้าด้วยน้ำปะเตาแบบดั้งเดิมจะได้ผ้าสีพื้นๆ แต่เราใช้เทคนิคมัดย้อมที่ทางกลุ่มได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานมาพัฒนาปรับปรุง จนสามารถทำผ้ามัดย้อมน้ำปะเตาที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านเขายี่สาร ซึ่งสีผ้าที่ได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งชนิดของเปลือกไม้ เช่น ตะบูนให้สีน้ำตาลชมพู ปุโรงให้สีน้ำตาลส้ม โกงกางให้สีน้ำตาลเข้ม ความอ่อนแก่และ จำนวนมากน้อยของเปลือกไม้ที่ใช้ ระยะเวลาในการต้ม แม้กระทั่งภาชนะที่ใช้ต้มอย่างอะลูมิเนียมก็ส่งผลต่อสีที่ได้ แล้วยังมี มอร์แดนท์หรือสารช่วยย้อม เช่น น้ำปูนใส น้ำสารส้ม น้ำสนิมที่ใช้ชุบผ้าก็ทำให้สีแตกต่างด้วย”

“ผ้าบางผืนย้อมเสร็จตากไว้แล้วบังเอิญฝนตกกระเด็นใส่ทำให้ผ้าเป็นลายจุดๆ ดูแปลกตา ฉะนั้น ผ้าผืนไหนที่เห็นว่าสวยถูกใจต้องซื้อเลยเพราะมันจะมีแค่ชิ้นเดียวเท่านั้น คุณสมบัติเด่นของผ้ามัดย้อมของเราอยู่ที่สีไม่ตกเพราะเราจะซักผ้าที่ย้อมเสร็จแล้วจนน้ำใส ถึงจะเอามาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ข้อจำกัดของสีธรรมชาติคือจะซีดไปตามเวลา นี่แหละเสน่ห์ของผ้ามัดย้อม”

          ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมของบ้านยี่สารมีให้เลือกหลากหลาย เช่น ผ้าผืนสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้าราคาเมตรละ 200 บาท เสื้อแฟชั่น กางเกงเล กระเป๋า หมวก ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ ที่ใส่เครื่องเขียน ฯลฯ แต่ที่ขายดีคือ กระเป๋าหิ้วทรงกลมใบเก๋  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุกๆ อย่างการทำถ่านดูดกลิ่นที่นำผงถ่านจากการเผา มาผสมกับกาวแล้วขึ้นรูปเป็นทรงกลม ตกแต่งด้วยดินเกาหลีปั้นเป็นรูปปลาตีน ปู ดอกไม้ รวมถึงตัวการ์ตูนน่ารักๆ ครูไพรัช ยังทิ้งท้ายอีกว่า

“เราไม่ได้เน้นเรื่องการค้าขาย แต่อยากอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบทอด รวมทั้งเห็นในคุณค่าของป่าชายเลน”

กินอยู่แบบคนยี่สารกับเมนูชะครามเปลี่ยนชีวิต

เพราะชีวิตแวดล้อมด้วยป่าชายเลน ทำให้ชาวยี่สารต้องสู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพธรรมชาติ นอกจากอาชีพเผาถ่านไม้โกงกาง ชาวยี่สารส่วนใหญ่ยังทำประมงชายฝั่ง เลี้ยงกุ้งปูปลา ทุกวันตั้งแต่ตี 5 ถึง 6 โมงเช้าที่ท่าเรือหน้าวัดเขายี่สารจะกลายเป็นตลาดซื้อขายอาหารทะเลขนาดมินิ ขายกันไปคุยกันไปแบบคนกันเอง ชาวบ้านจะขนกุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลากะพง หรือปูไข่ตัวแน่นๆ มาขายให้พ่อค้าคนกลาง ก่อนส่งขายต่อให้ตลาดมหาชัย ตลาดแม่กลอง และตลาดเยาวราช นักท่องเที่ยวที่อยากกินอาหารทะเลสดๆ ก็ขอซื้อในราคาขายส่งได้  

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของกุ้งหอยปูปลา ในสำรับอาหารยังต้องมีข้าวและพืชผัก ในสมัยก่อนชาวยี่สารต้องเอาปลาไปแลกข้าวเพราะสภาพพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อการปลูกข้าว ส่วนผักก็เก็บพืชน้ำกร่อยมาดัดแปลงเป็นอาหาร โดยเฉพาะใบชะครามนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู คุณจ๋า-นิภาภัทร์ พยนต์ยิ้ม เจ้าของร้านครัวคุณจ๋าเล่าถึงพืชริมทางอย่างชะครามที่เปลี่ยนชีวิตของเธอจากแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวมาเป็นเจ้าของร้านอาหารพื้นบ้านชื่อดังประจำชุมชน 

“จริงๆ ชะครามอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านยี่สารมาเนิ่นนาน ทั้งชะครามลวกกินกับน้ำพริกกะปิ แกงส้มชะครามใส่ปลาดุกทะเล ยำใบชะครามเป็นเมนูพื้นบ้านที่เราทำกินกัน จนวันหนึ่งเรามีโอกาสได้ทำอาหารขึ้นโต๊ะเสวยถวายสมเด็จพระเทพฯ ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มาเปิดพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร รวมถึงทำอาหารให้กับเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ตอนนั้นทำแกงคั่วใบชะครามหรือที่ชาวยี่สารเรียก แกงอ่อมใบชะคราม กินคู่กับขนมจีน ใบชะครามลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิ ปลาทูต้มมะดัน ปลาหมอเทศแดดเดียว แกงส้มใบชะคราม พระองค์ท่านรับสั่งว่าให้ทำขายได้เลยนะ อร่อยมาก”

จากวันนั้นคุณจ๋าจึงเสริมเมนูน้ำพริกกะปิกับชะคราม ปลาหมอเทศแดดเดียว และแกงส้มชะคราม ควบคู่ไปกับการขายก๋วยเตี๋ยว แล้วค่อยๆ เพิ่มเมนูทีละอย่างจนในที่สุดเปิดเป็นร้าน “ครัวคุณจ๋า” ที่เสิร์ฟอาหารพื้นบ้านเต็มรูปแบบ

“ชะครามเปลี่ยนชีวิตจ๋าไปมาก เราอาศัยที่วัดทำกินแต่เราก็ทำให้ชื่อเสียงของที่นี่เป็นที่รู้จัก ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพไปด้วย ทั้งเด็กๆ ที่มารับจ้าง เสิร์ฟอาหารวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ปกครองที่เก็บชะครามส่งให้เรา แม้แต่ปลาหมอเทศแดดเดียวก็มาจากบ่อของชาวบ้านย่านนี้”

 ใครมาเที่ยวบ้านยี่สารต้องไม่พลาดมากินชะครามและอีกหลายเมนูพื้นบ้านที่ร้านครัวคุณจ๋า แล้วต่อด้วยขนมหวานอย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน หม้อแกงไข่ ซึ่งเป็นของกลุ่มแม่บ้านมาฝากขายที่ร้าน กล่องใหญ่ 100 บาท กล่องเล็ก 50 บาท อีกทั้งมีของฝากประเภทกะปิ กุ้งแห้ง หอยหวาน ปลาเล็กปลาน้อยตากแห้งพร้อมจำหน่าย ถ้าอยากได้ ปลาแดดเดียวทำสดใหม่ทั้งปลากุเลา ปลากระบอก ปลานิลและปลาหมอเทศไร้ก้าง เลือกซื้อได้ที่แผงปลาเล็กๆ ของป้าปาน ปลาเค็ม ตั้งอยู่ด้านหน้าร้านครัวคุณจ๋า หรือใครอยากชิมลูกจากลอยแก้ว สาเกเชื่อม รวมถึงกุ้งหวานทำใหม่ๆ เชิญที่ร้านพี่เปียอยู่ตรงทางเข้าร้านเช่นกัน สรุปว่ามาร้านครัวคุณจ๋าทั้งอิ่มท้องพร้อมชอปปิงของฝากจากยี่สารกลับบ้านได้เลย

– ช่วงวันเพ็ญ เดือน 12 อำเภออัมพวา #สมุทรสงคราม จะจัดประเพณี “ลอยกระทงกาบกล้วย” #AmazingThailand หากมาเที่ยวบ้านเขายี่สารในช่วงนั้น จะได้สัมผัสกับความสวยงามของแสงเทียนจากกระทงกาบกล้วยหลายหมื่นใบ ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง จากบ้านเขายี่สารยังสามารถเดินทางต่อไปบ้านบางตะบูน เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังสถานที่ต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบุรีได้อีกด้วย #โมเมนต์ที่ใช่สร้างได้ไม่ต้องรอ

– พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านเขายี่สารเปิดให้ชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ตั้งแต่ 09.00-15.00 น. ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อโทร. 08 9986 0142

– สนใจทำผ้ามัดย้อมน้ำปะเตาและถ่านดูดกลิ่น รวมถึงเยี่ยมชมโรงเผาถ่าน ติดต่อที่ครูไพรัช โทร. 08 9986 0142 และคุณเอ โทร. 08 4241 6569 

– ร้านอาหารครัวคุณจ๋าเปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 09.00-16.00 น. และหยุดวันพุธ-วันพฤหัสฯสุดท้ายของเดือน สำรองที่นั่งโทร. 08 1808 2701, 08 7755 8180

– แนะนำที่พัก : ลานสีดา โฮมสเตย์ บ้านพักขนาด 2 คน มี 2 หลัง เตียงนุ่มนอนสบาย ติดแอร์ บรรยากาศร่มรื่น คืนละ 700 บาท อาหารเช้าคนละ 50 บาท ถ้าพักเป็นหมู่คณะมีที่พักหลังใหญ่กับที่นอนปิกนิก สอบถามที่โทร.  08 4241 6569 

artoftraveler.com